ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา วงการหนังไทยอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” หลังจากหลับใหลไปนาน แต่อีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมหนังไทยก็ยังติดหล่มหลายอย่างที่อาจ “ขัดแข้ง” การเติบโตในห้วงเวลานี้
อาจกล่าวได้ว่า ปรากฏการณ์หนังไทยในช่วง 2 ปีนี้เริ่มต้นจากความสำเร็จของ ‘Hunger คนหิวเกมกระหาย’ (กำกับโดย สิทธิศิริ มงคลศิริ) ที่กลายเป็นภาพยนตร์ไทยดั้งเดิมของ Netflix เรื่องแรกที่ติดอันดับสตรีมมิง Top 10 ทั่วโลก แต่จุดเปลี่ยนเกมของจริงอยู่ที่ ‘สัปเหร่อ’ (กำกับโดย ธิติ ศรีนวล) และ ‘ธี่หยด’ (กำกับโดย ทวีวัฒน์ วันทา) ซึ่งออกฉายในเดือน ต.ค. 66 เหมือนกันและทำเงินรวมกันกว่า 1,200 ล้านบาท จนเรียกว่าเป็น “Barbenheimer” ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ยังไม่นับว่าช่วงเวลาเดียวกันนั้นมี ‘มนต์รักนักพากย์’ (กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร) ที่เป็นจดหมายรักถึงหนังไทยและกล้านำเสนอรสชาติหนังที่คนไทยไม่คุ้นเคย
ตัดมาที่ปี 2567 ดูเหมือนว่าภาพยนตร์ไทยจะยัง “ฮิต” ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีหนังทำเงินเกิน 100 ล้านบาทแซงหน้าหนังฮอลลีวูดหลายเรื่อง เช่น ‘ธี่หยด 2’ (กำกับโดย ทวีวัฒน์ วันทา), ‘หลานม่า’ (กำกับโดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์) และ ‘วัยหนุ่ม 2544’ (กำกับโดย พุฒิพงษ์ นาคทอง) และปีที่ผ่านมา ‘หลานม่า’ ได้รับคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจนติด 15 เรื่องสุดท้าย พอจะสะท้อนให้เห็นว่า หนังไทยไม่ต้องเดินสูตรหนังผีหรือตลกก็ประสบความสำเร็จทั้งเงินและกล่องได้
“[หลานม่า] ยืนยันความเชื่อที่ครูมีมาตลอดชีวิตว่า ไม่ต้องทำเรื่องใหญ่โตมากมายอะไรเลย เรื่องเล็ก ๆ อย่างครอบครัวและความสัมพันธ์ ถ้าคุณทำแล้วไปสุดทางอย่างไม่ประนีประนอมกับองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างไรก็เวิร์ก” ผศ. ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ (ครูบัว) อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นแก่ Thai PBS “[ขณะเดียวกัน] เราก็เห็นความหลากหลาย [ในหนังไทย] มากขึ้นนะ หรือแม้แต่หนังผีกับตลกก็ลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น”
ถึงช่วงที่ผ่านมา วงการหนังไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะเปิดโอกาสให้แก่หนังแนว (กึ่ง) ทดลองและคนทำหนังตัวเล็ก ๆ มากขึ้น แต่หนังไทยหลายเรื่องก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก อีกทั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 ไม่มีหนังไทยเรื่องไหนทำเงินแตะหลักร้อยล้านได้เลย แม้แต่หนังจากค่ายใหญ่ ๆ ก็ทำยอดไม่เข้าเป้าอย่างที่ควร อีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมโรงหนังก็เกิดแรงสะเทือนครั้งใหญ่หลังจากที่โรงหนังขนาดเล็ก (micro cinema) อย่าง Doc Club & Pub ต้องปิดตัวเองลงเพราะกฎหมายอาคารและโรงมหรสพไม่เอื้อ ทำให้พื้นที่ฉายหนังสำหรับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังตัวเล็ก ๆ นั้นลดน้อยลงไป
จากสถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา จึงอาจเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมในการหาคำตอบว่า ทำไมอนาคตของหนังไทยจึงดูสดใสและน่าสงสัยในเวลาเดียวกัน แล้วภาคส่วนต่าง ๆ (ควร) จะทำอย่างไรต่อไปเพื่อให้วงการหนังไทยโตได้แบบไม่มีสะดุด
“ความก้าวหน้า” และ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่ตีขนานกันในวงการหนังไทย
ปีที่ผ่านมา วงการหนังไทยจะทลายกรอบหลาย ๆ อย่างได้โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเนื้อหา หมุดหมายสำคัญที่ควรกล่าวถึงคือ การยกเลิกการแบนภาพยนตร์ที่เคยถูกกองเซนเซอร์พิจารณาว่าขัดศีลธรรมและก่อความยุยงอย่าง ‘คนกราบหมา’ และ ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ (ทั้ง 2 เรื่องกำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์) จนได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก โดยเฉพาะ ‘คนกราบหมา’ นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นภาพยนตร์แห่งชาติหลังจากที่ถูกแบนกว่า 27 ปี “การที่คนกราบหมาผ่าน [เซนเซอร์] และได้เรต น. 15+ ก็เป็นตัวบ่งชี้เหมือนกันว่า สังคมไทย เจเนอเรชัน และยุคสมัยก็เปลี่ยนไปในระดับหนึ่ง” มานิต ศรีวานิชภูมิ ผู้กำกับภาพของ ‘คนกราบหมา’ กล่าวกับรายการไทยบันเทิง
แพลตฟอร์มสตรีมมิงยังคงเป็นพื้นที่ “ปล่อยของ” สำหรับคนทำหนัง และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สตรีมมิงอเมริกันเจ้าต่าง ๆ เลือกลงทุนในคอนเทนต์ท้องถิ่นในประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการประท้วงของกลุ่มนักแสดงและนักเขียนบทในฮอลลีวูดที่ทำให้การผลิตหนังต้องหยุดชะงักนานหลายเดือนเมื่อปี 2566 อีกสาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมของคนที่เสพคอนเทนต์ท้องถิ่นมากขึ้น และถ้าหนังเรื่องนั้นดีและโดนใจมากพอ ก็ยังขายให้ผู้ชมต่างชาติได้ด้วย “ผมว่าคอนเทนต์ไทยมีเสน่ห์บางอย่างที่เริ่มได้รับการตอบรับที่ดีในตลาดโลก แล้วก็หัวข้อต่าง ๆ หรือเรื่องที่เราเอามาเล่ามีความพิเศษในหลาย ๆ มิติ จนประชากรโลกเริ่มสนใจ” กุลเทพ นฤหล้า นายกสมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ ให้ความเห็นในไทยบันเทิง
แม้ปี 2567 หนังไทยมีสัดส่วนรายได้ถึงร้อยละ 54 แต่หลายเรื่องนั้นยังทำเงิน “ห่างชั้น” จากทำเนียบหนังร้อยล้านอยู่มากโข อีกทั้งหนังไทยทุนใหญ่บางเรื่องก็ทำเงินผิดฟอร์ม อาทิ ‘ตาคลี เจเนซิส’ (กำกับโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล), ‘ยูเรนัส 2324’ (กำกับโดย ธนดล นวลสุทธิ์), ‘ไชน่าทาวน์ ชะช่า’ (กำกับโดย จาตุรงค์ พลบูรณ์) และ ‘404 สุขีนิรันดร์.. RUN RUN’ (กำกับโดย พิชย จรัสบุญประชา) ทำให้เกิดคำถามว่า ตอนนี้คือยุคทองของหนังไทยจริง ๆ หรือ “ระหว่างหนังที่ทำรายได้กลาง ๆ ไปจนถึงต่ำ กับหนังที่ทำรายได้สูงมาก ๆ มันมีช่องว่างที่สูง จนผมรู้สึกว่าน่าเป็นห่วง เป็นสิ่งที่น่าคิดเหมือนกันว่า ในระยะยาว เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าความรุ่งเรืองของหนังไทยได้ไหม” ภาณุ อารี ผู้จัดจำหน่ายและผู้กำกับภาพยนตร์ ให้ความเห็นในไทยบันเทิง
ส่วนหนังไทยฟอร์มเล็กและอิสระนั้น ด้านหนึ่ง บรรดาคอหนังก็ได้เห็นคนตัวเล็ก ๆ ทำผลงานออกมาฉายในโรงได้ อย่างเช่น ‘ก๋วยเตี๋ยวเย็น’ (กำกับโดย ธีรพัฒน์ กองรัตน์) ซึ่งใช้ทุนสร้างเพียง 30,000 บาท, ‘มอร์ริสัน’ (กำกับโดย พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง) ที่ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากฝรั่งเศส และ ‘ตํารวจแต่ง กําเนิดผู้พิทักษ์สันติหลุด’ (กำกับโดย ณัฐพร เพริศแก้ว) หนังตลก-สืบสวนไทบ้าน อย่างไรก็ดี 2 เรื่องหลังออกฉายในโรงหนังเครือใหญ่ไม่กี่วัน และเรื่องแรกก็จัดฉายเพียงรอบเดียวโดยผู้กำกับเอง ขณะที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังไทยบางเรื่องจากค่ายใหญ่อยู่ในโรงนานนับเดือนจากโปรโมชันตั๋วราคาถูก ตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงมีการเรียกร้องให้กำหนดสัดส่วนและระยะเวลายืนโรงขั้นต่ำของหนังไทยเพื่อสนับสนุนคนทำหนังไทยอย่างเท่าเทียม
ปี 2568 ปีที่หนังไทยจะ “บูม” ต่อเนื่อง ?
ในไตรมาสแรกของปี 2568 วงการหนังไทยอาจดูซบเซาลงไปบ้าง เนื่องจากไม่มีเรื่องไหนทำเงินแตะร้อยล้านได้ แต่จากขบวนหนังที่กำลังจะเข้าฉายในช่วง 1-2 ปีนี้ สะท้อนได้ว่า คนทำหนังและสตูดิโอต่าง ๆ พร้อมใจ “รันวงการ” ให้คึกคักอย่างต่อเนื่อง
ปีนี้ นอกจากค่ายหนังใหญ่ เช่น สหมงคลฟิล์ม, GDH 559, ไฟว์สตาร์, M Studio พร้อมบริษัทพันธมิตร, โมโน และเนรมิตรหนัง ฟิล์ม แล้ว สตูดิโออิสระและสตูดิโอเกิดใหม่ก็พร้อมลงสนามเต็มที่ ทั้ง HAL/โก๋ฟิล์ม, BrandThink Cinema, Nation, Be On Cloud หรือแม้แต่ Night Edge Pictures ผู้จัดจำหน่ายหนังสยองขวัญต่างประเทศที่ผันตัวมาผลิตหนังไทยเอง นอกจากนี้ พระนครฟิล์มได้เปิดบริษัทลูกที่ชื่อ 13 Studio เพื่อผลิตหนังสยองขวัญเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และตลาดต่างประเทศ “เฮียจุ้ย [ธนพล ธนารุ่งโรจน์] เป็นคนหัวสมัยใหม่ และรู้มาตลอดว่า แบรนดิงของพระนครฟิล์มดูเก่า ไม่สามารถซื้อใจวัยรุ่นได้” ทวีวัฒน์ วันทา ผู้บริหาร 13 Studio กล่าวกับไทยบันเทิง “[ธนพล] ก็เลยบอกว่า ‘ถ้าคุ้ย [ทวีวัฒน์] มา ก็สร้างแบรนด์ใหม่ให้เกิดขึ้น’ ฉะนั้น 13 Studio จึงเป็นก้าวแรก [ในการเจาะตลาดใหม่]”

คำพูดของทวีวัฒน์ดูจะสอดคล้องกับความคิดเห็นของจิระ มะลิกุล ผู้บริหารค่าย GDH 559 ว่า หากหนังไทยจะไปต่อได้ ต้องทำออกมาให้ตรงใจคนในยุคสมัยนั้น ๆ เสียก่อน “คนรุ่นนี้ก็ทำหนังให้คนรุ่นนี้ดู มันเบสิกที่สุดครับ พอเขาเริ่มมีโอกาส แล้วเขาทำได้ดี เขาก็จะกลายเป็นพี่นนทรีย์ [นิมิบุตร] หรือเหมือนผมเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วครับ” และจิระยังให้ความเห็นต่อว่า หนังไทยยังมีโอกาสที่ดีในตลาดทั้งในและนอกบ้าน “ เพราะว่าเรามีสถาบันการศึกษาหรือสถาบันภาพยนตร์ที่เป็นกำลังสำคัญและพร้อมที่จะผลักดันคนรุ่นใหม่ ๆ ทั้งแทบทุกด้านเลย ปีหนึ่งเรายังมีหนังไทยเกิน 50 เรื่องนะ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากครับ”
อีกด้านหนึ่ง ครูบัวมองว่า วงวิชาการยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้แม้แต่ครูบาอาจารย์เองก็ตามไม่ทันความเป็นไปในสนามจริง “[มหาวิทยาลัยทุกแห่ง] บังคับว่า อาจารย์ต้องจบปริญญาและทำวิจัย แต่หนังและละคร... มันคือวิชาชีพ ดังนั้น อาจารย์ทุกคนที่อยู่ในสาขานี้ พวกเราอยากสร้างงานมาก” ครูบัวกล่าว “เราเลือกเป็นครูเพราะเราชอบสอน แต่ก็ต้องทำวิจัยด้วย ขณะเดียวกัน เราก็พยายามสร้างงานเพื่อที่เราจะได้สอนนิสิตนักศึกษาเราได้ค่ะ ครูเลยรู้สึกว่าวงการวิชาการจะช่วย [สนับสนุนวงการ] ได้มาก ถ้าทางมหาวิทยาลัยปลดล็อกเรื่องคนสอนว่าจะต้องจบดอกเตอร์เท่านั้น [เพื่อเปิดทางให้คนในวงการได้เข้ามาสอนประจำ] มันจะเป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษาขึ้นอีกมาก ไม่อย่างนั้น ทุกวันนี้ เราจะเจอในหลาย ๆ ที่ว่า คนสอนไม่ใช่คนที่ทำจริง”
หันมาดูเรื่องโอกาสกันบ้าง ปัจจุบัน วงการหนังไทยมีโอกาสมากขึ้นให้คนทำหนังทั้งหน้าเก่าและใหม่ อานิสงส์ส่วนหนึ่งนั้นมาจากแพลตฟอร์มเกิดใหม่ต่าง ๆ อีกทั้งใคร ๆ ก็อาจลองทำหนังได้ด้วยมือถือเครื่องเดียว “ความยากจึงไม่ใช่การเข้าไปในตลาด แต่คือการทำอย่างไรให้แตกต่าง เล่าเรื่องอย่างไรให้จับใจคนได้ ทีนี้ต้องแข่งกันและอยู่ที่ฝีมือแล้วค่ะ” ครูบัวกล่าว

ตัวครูบัวเองเพิ่งเริ่มจับงานเขียนบทภาพยนตร์เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจาก ‘แมนสรวง’ (กฤษดา วิทยาขจรเดช, ชาติชาย เกษนัส และพันพัสสา ธูปเทียน กำกับร่วม) ครูบัวจึงกล่าวว่า ช่วงแรกเริ่ม คนทำหนังหน้าใหม่ต่างต้องพิสูจน์ถึงความสามารถของตัวเองให้เป็นที่ประจักษ์ให้ได้ ไม่ว่าเป็นเด็กจบใหม่หรืออาจารย์สอนเขียนบทก็ตาม และในฐานะคนละครเวที ครูบัวมีคำแนะนำว่า หากเด็กสายนิเทศหรือศิลปะการแสดงอยากจะข้ามสายมาจับงานหนัง ก็ต้องดูหนังและเรียนรู้ให้มากเข้าไว้ “มันถึงเวลาแล้วที่สื่อแขนงต่าง ๆ จะต้องผสมผสานกัน ไม่ได้อยู่กันเป็นเอกเทศอีกต่อไป อย่างเช่นหนังที่ใช้ภาษาของละครเวที ลองเทกถ่ายยาวกันไป มันมีการหยิบยืมกันอยู่ตลอดเวลา และมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ”
เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ยังพอมีข่าวดีในวงการหนังไทยบ้าง เพราะคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. ที่เน้น “ส่งเสริม” อุตสาหกรรมหนังมากกว่า “ควบคุม” เพิ่มอำนาจให้เอกชนและคนทำหนัง อีกทั้งยังลดระดับการกำกับดูแลโรงหนังให้ใช้ระบบจดแจ้งแทน นอกจากนี้ ปีนี้ สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) ยังสนับสนุนงบประมาณ 220 ล้านบาทให้ภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชันหลายสิบเรื่อง ยังไม่นับว่า คนในวงการหนังเองก็พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงาน ผ่านแนวคิดการจัดตั้งสมาคมนักแสดงประเทศไทย สมาคมวิชาชีพนักเขียนบท ฯลฯ

แม้คนทำหนังจะมองเห็นความพยายามของรัฐที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย แต่ก็ยังมีปัญหาหลาย ๆ อย่างที่รัฐต้องแก้ให้ตก “ถ้ารัฐ – ในฐานะแรงสนับสนุนจากภาษีของทุกคน – ไม่ปั้นคนใหม่ ๆ ขึ้นมามากพอ มันก็ไม่ไปไหนเหมือนกันค่ะ หรือเรื่องโปรดักชัน เวลาต้องออกกองหรือจัดการเรื่องสถานที่ถ่ายทำ ทำไมมันยากเย็นอย่างนี้” ครูบัวกล่าว “สำหรับรัฐ มันไม่ยากเลยที่จะปลดล็อก [กฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ] เพื่อที่จะให้ประเทศเราได้เป็นศูนย์กลางอย่างที่เขาอยากให้เป็น”
ทั้งหมดนี้คือความเป็นไปเพียงส่วนหนึ่งของวงการหนังไทยในห้วงเวลานี้ แม้กระแสหนังไทยจะมีช่วงขาขึ้นและขาลง แต่ทุกภาคส่วนก็ยังมีความหวังที่จะทำให้วงการไปต่อได้อย่างยั่งยืน “ครูว่ามันดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังต้องสู้ต่อไป” ครูบัวกล่าวจบการสัมภาษณ์ ท้ายที่สุดนั้น ความพยายามทั้งหมดของคนทำหนังจะมีความหมาย หากผู้ชมอย่างเรา ๆ สนับสนุนหนังไทยอย่างถูกลิขสิทธิ์และวิพากษ์วิจารณ์ผลงานได้ตามจริง เพื่อให้หนังไทยเติบโตอย่างสร้างสรรค์ทั้งองคาพยพ
ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘หนังไทย’ ในแง่มุมหลากหลายจากเครือ Thai PBS
- เปิดจักรวาลผีไทย กับที่มาและเหล่าความเชื่อ I Thai PBS NOW
- แกะสูตรความคิด การผลิตเพลงภาพยนตร์ I นักผจญเพลง Podcast
- หนังโป๊ เซ็กซ์ทอย สิทธิในการเข้าถึงจุดสุดยอด ต้องขอใคร I The Active Podcast
อ้างอิง
- Forbes Thailand, ‘ภาพยนตร์ไทย’ กวาดรายได้แซงฮอลลีวูด ปี 67 ครองมาร์เก็ตแชร์ 54% สะท้อนปรากฏการณ์ ‘TOLLYWOOD’
- The 101 World, 2024 ช่างเป็นปีที่หนังไทย ‘ทะเยอทะยาน’ เสียจริงๆ
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW