การคุยอวดวันรวมญาติ ถือเป็นปัญหาทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกมีร่วมกันมานาน
ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน เมื่อเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ ตรุษจีน หรือสงกรานต์ เวียนมาถึง หลายคนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมเยียนพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ เชื่อว่าแทบทุกบ้านจะต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนที่ชอบโอ้อวดหรือคอยถามคำถามส่วนตัว จนบางครั้งอาจเลยเถิดเป็น “เกมทางจิตวิทยาและดรามาในครอบครัว” หรืออาจทำให้บางคนต้องไปบำบัดกับนักจิตวิทยาหลังการรวมญาติจบลง
ในบทความนี้ Thai PBS Care ขอใช้หลักจิตวิทยามาอธิบายว่า ทำไมคนเราถึงชอบอวดช่วงวันรวมญาติ รวมถึงเสนอคำแนะนำเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับการปฏิบัติตนทั้งในฐานะ “ผู้พูด” และ “ผู้ฟัง”

จิตวิทยาแห่งการโอ้อวดที่วิวัฒน์ตามกาลเวลา
การคุยโม้โอ้อวดถือเป็นประเด็นทางจิตวิทยาที่มีมาช้านานก่อนที่คำว่า ‘จิตวิทยา’ จะปรากฏแพร่หลายเสียด้วยซ้ำ “จริง ๆ พฤติกรรมโอ้อวดอยู่กับสังคมมนุษย์มานานแล้ว เมื่อย้อนกลับไปสมัยก่อนในยุคที่ไม่มีสื่อใด ๆ ก็ตาม เราก็จะสังเกตเห็นคนที่แต่งเนื้อแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ดีกว่าคนอื่น ออกไปเดินตามท้องถนนตามตลาด [เพราะพวกเขา] รู้สึกเป็นจุดเด่น อยากมีสปอตไลต์มาส่อง [และ] อยากเป็นที่ยอมรับของสังคม” นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในฐานะโฆษกกรมสุขภาพจิต ณ ขณะนั้น กล่าวในรายการรู้เท่าทันสื่อ
แม้จะไม่ใช่ช่วงเทศกาล หลายคนก็มีแนวโน้มที่จะ “อวด” อยู่ตลอดเวลา จนในปัจจุบัน แวดวงจิตวิทยามีคำ 2 คำที่อธิบายพฤติกรรมเช่นนี้ คำแรกคือ ‘humblebrag’ หรือการโอ้อวดแบบถ่อมตน “[เมื่อ] คนเริ่มเรียนรู้ว่าบางครั้ง การโอ้อวดบนโลกโซเชียลก็ไม่ได้ดูดีมากนักหรือกลายเป็นที่น่ารังเกียจ เลยเกิดสิ่งใหม่ที่เรียกว่า ‘การโอ้อวดแบบถ่อมตน’ [เช่น] ตอนเรากินข้าว อาจจะโพสต์เห็นนาฬิกา [โผล่ออก] มานิดหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้สื่อสารบางอย่างที่เราต้องการบอกให้คนรอบข้างรู้ว่า ‘ฉันก็มีนะ’” นพ.วรตม์ ยกตัวอย่าง
ส่วนคำที่ 2 จากวงการจิตวิทยานั้นคือคำว่า ‘sharenting’ หรือการที่พ่อแม่โพสต์รูปลูกหลานบนโซเชียลมีเดียเป็นประจำ อาจมองได้ว่าพฤติกรรม (การอวด) เช่นนี้คือการเก็บความทรงจำและพัฒนาการของลูกไปในตัว แต่นักจิตวิทยาออกมาเตือนว่า การถ่ายภาพโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากเด็กนั้นอาจก่อให้เกิดแผลใจได้ “แม้กระทั่งไปถ่ายภาพขณะที่เขาแก้ผ้า [ตอนยังเป็นเด็กเล็ก] ภาพพวกนี้ที่เราโพสต์และคิดว่าน่ารัก ไม่ได้มีอะไรเลย แต่อีก 6 ปีถัดไป ลูกอาจจะมาบอกกับแม่ได้นะครับว่า ‘แม่ทำอย่างนี้กับหนูได้อย่างไร”’ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) อธิบายไว้ในรายการรู้เท่าทันสื่อ

กลับมาที่เรื่องจิตวิทยาการโอ้อวดช่วงวันรวมญาติ บางครอบครัวอาจจะไม่ได้พบเจอกันบ่อย เมื่อมาพบปะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกัน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการโอ้อวดได้ไม่ว่าคนพูดจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น ลุงป้าอาจจะถามไถ่หลานเรื่องอาชีพการงานด้วยความหวังดี แต่เมื่อพวกเขาพูดถึงลูกพี่ลูกน้องที่มีหน้าที่การงาน “ดีกว่า” ก็อาจทำให้ตัวหลานอดคิดไม่ได้ว่า “ฉันกำลังโดนเปรียบเทียบอยู่หรือเปล่า” นอกจากนี้ วันรวมญาติอาจกลายเป็นสนามอารมณ์และเกมทางจิตวิทยาได้ หากคนในเครือญาติมีความคิด นิสัยใจคอ และความชอบที่ต่างกันมากเสียจนนำมาทิ่มแทงถกเถียงกันในบ้าน
ลูกหลานหลายคนจึงเลือกที่จะเลี่ยงการพบปะเครือญาติช่วงเทศกาล เพราะไม่อยากจะรับบท “เด็กดี” ในสงครามจิตวิทยาที่พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ต่าง “ขิง” เรื่องลูกของตน อีกทั้งสังคมเมืองในประเทศต่าง ๆ ก็ทำให้คนรุ่นใหม่อยู่ห่างจากครอบครัวมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่จีน – ประเทศที่แนวคิดครอบครัวและความกตัญญูเป็นรากฐานของสังคม – ได้เกิดปรากฏการณ์ “ด้วนชิน (duanqin: 断亲)” หรือ “การแตกหักทางสายเลือด” ในหมู่คนรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับเครือญาติเหมือนคนรุ่นพ่อแม่อีกต่อไป และเลือกที่จะใช้เวลากับเพื่อนฝูงแทน
ไกด์ไลน์จิตวิทยาสำหรับ “การแสดงท่าทีช่วงวันรวมญาติ”
แม้บางคนอาจเลี่ยงวันรวมญาติและเกมจิตวิทยาที่อาจตามมาได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยยังคงกลับไปหาครอบครัวช่วงเทศกาล เราจึงได้รวบรวม “กลยุทธ์ทางจิตวิทยาเบื้องต้น” เกี่ยวกับการแสดงท่าทีช่วงวันรวมญาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันได้อย่างสบายใจมากขึ้นและหลีกเลี่ยงสงครามจิตวิทยาอันไม่จำเป็น ทั้งนี้ ขอเตือนว่า แต่ละวิธีไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน และหากใครรับมือกับแรงกดดันด้วยตัวเองไม่ไหว ควรปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ครับ
ฝ่ายผู้ถามหรือเริ่มบทสนทนา
- ลดการอวดหรือเปรียบเทียบลูกหลานกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกเล็กนั้นไม่ควรเปรียบเทียบบุตรของตนเองโดยอ้างว่า “หวังดี” เพราะอาจสร้างปมต่าง ๆ ในใจของเด็กได้ เช่น การด้อยค่าตนเอง และความกดดัน
- ชื่นชมลูกหลานและญาติมิตรได้ในระดับที่พอดี แต่ไม่ควรอวดเกินจริง เช่น ถ้าลูกร้องเพลงเพราะ อาจพูดชมลูกต่อหน้าคนอื่นสั้น ๆ ว่า “ลูกชอบร้องเพลง เพราะเขามีความสุขกับการร้องเพลง”
- บางครั้ง ก็มีเหตุอันสมควรและชอบธรรมให้อวดบุตรหลาน เช่น พ่อแม่ที่ไม่ได้ร่ำเรียนมาสูงดีใจลูกที่ได้ทุนเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หรือผู้พิการทางการได้ยินที่มีลูกร้องเพลงเพราะ ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ควรชื่นชมใน “ความพยายาม” และ “ตัวของลูกหลาน” ที่ได้ดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ควรโอ้อวดว่าตนเองเลี้ยงดูลูกดีแค่ไหน อีกทั้งต้องดูกาลเทศะและบริบทด้วย
- มี “สูตรทางจิตวิทยาในการอวดลูกหลาน” ที่ว่า หากจะอวยใครสักคน ต้องทั้ง “ติ” และ “ชม” เพื่อไม่ให้คำพูดชื่นชมดูไร้น้ำหนักหรือโอ้อวดเกินควร ยกตัวอย่าง หากจะชมว่าลูกร้องเพลงเพราะ ก็อาจพูดเสริมไปว่า ตัวลูกเองนั้นรู้ตัวว่าต้องพัฒนาในส่วนไหนเพิ่มเติม
ฝ่ายผู้ตอบโต้หรือรับฟัง
- เตรียมความพร้อมและคำตอบไว้ล่วงหน้า หากเดาได้ว่าญาติมิตรที่เราจะไปพบนั้นเป็นคนอย่างไรและน่าจะชวนสนทนาเกี่ยวกับเรื่องอะไร เช่น หากลุงป้าชอบอวดลูกพี่ลูกน้อง อาจตอบสั้น ๆ ว่า “ดีแล้วครับ/ค่ะ” แล้วเปลี่ยนเรื่องพูดคุย
- หากใจแข็งพอ สามารถพูดตรง ๆ แต่ไม่ต้องแรงกับคู่สนทนาเลยว่า รู้สึกอึดอัดกับเรื่องที่กำลังคุยกันอยู่ หรือรีบปลีกตัวออกมาด้วยความสุภาพเพื่อให้ตัวเองได้ตั้งสติ
- ถ้าคุณเป็น “เจ้าบ้าน” ต้อนรับญาติมิตร จงพยายามคุมบรรยากาศ และทำทุกอย่างให้ง่ายที่สุด ถ้าเห็นท่าทีแล้วว่าจะมีใครโอ้อวดหรือชวนทะเลาะ ก็ชิงตักอาหารให้เขาเพิ่มหรือถามคนคนนั้นเกี่ยวกับเรื่องอื่น
- สร้าง “ระบบภูมิคุ้มกันเชิงจิตวิทยา” ให้ตัวเองด้วยการไปพบนักจิตวิทยา หรือหาคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้ เพื่อหาคนมารับฟังและแบ่งเบาเรื่องทุกข์ใจของเรา
นอกจากนี้ นักจิตวิทยาอย่างนพ.วรตม์ เคยกล่าวว่า ไม่ว่าคนอื่นจะชอบโอ้อวดเพียงใด เราจงอย่าเปรียบเทียบตัวเองกับเขา “เพราะภาพที่เราเห็นอาจไม่เป็นจริงเสมอไป ต่อให้จริง เราก็มีข้อดีของเราเองและสามารถมีความสุขได้ในแบบที่เราเป็นครับ”
ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘ครอบครัวไทย’ ในหลากหลายแง่มุม จากเครือ Thai PBS
- "พ่อแม่เอเชีย" และความหวังดีอันแสนซับซ้อน I Thai PBS NOW
- ครอบครัวไทย อบอุ่น หรือ อ่อนแอ I Big Story เรื่องใหญ่ Thai PBS
- สถานการณ์ ‘ครอบครัวแหว่งกลาง’ ยังน่าห่วง – เด็ก เยาวชน ป่วยซึมเศร้าเพิ่มขึ้น I The Active
อ้างอิง
- The Guardian, Let's be honest: sometimes parents have due cause to brag about their kids
- The New York Times, A Truce in the Bragging Wars
- The News York Times, How to Avoid Family Drama This Holiday Season
- Sixth Time, Space Race: Why Young Chinese Are Cutting Ties With Relatives
- Wondermind, 14 Ways People With Weird Family Dynamics Make the Holidays Less Awful
- ไทยพับลิก้า, Humblebrag: จิตวิทยาของการอวดตัวเองแบบถ่อมตน
ติดตามบทความและเรื่องราวทันทุกกระแสที่ Thai PBS NOW