มติเอกฉันท์ ให้
ความเย็นชาต่อชะตากรรมของคนแคระที่จับมากักขังโดยละเลยกฎหมายและอ้างเหตุผลชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง ถ่ายทอดผ่านตัวละครที่แม้จะปฎิบัติต่อคนแคระอย่างดี หากสิ่งที่คนแคระต้องการ คือ อิสระภาพ สะท้อนปัญหาความไร้ศิลธรรมและการสนองความต้องการที่ไร้ขอบเขตของคนในสังคมสมัยใหม่ผ่านการเล่าเรื่องที่ให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถาม คือความโดดเด่นของ คนแคระ นวนิยายซีไรต์ปีล่าสุด
แม้จะดำเนินเรื่องเนิบช้า หากการค่อยๆคลายปมของตัวละครที่แปลกแยกซับซ้อน ก็กระตุ้นให้เกิดการตีความหลากหลายและเกิดการสำรวจความเป็นมนุษย์ในโลกร่วมสมัย
วิภาส ศรีทอง เคยถูกครหาว่าดัดแปลงเรื่องสั้นของต่างประเทศมาเป็นฉบับตัวเอง จนทำให้หายจากวงการวรรณกรรมไทยนานถึง 4 ปี ครั้งนี้ เขากลับมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง ผ่านผลงานนวนิยายเรื่องแรกในชีวิต หาก "คนแคระ" ก็ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจได้รับอิทธิพลจากงานเขียนเรื่อง มิสเซอร์รี่ ของ สตีเฟ่นคิงส์ แต่การใช้เวลาในการตัดสินและตรวจสอบนานร่วม 2 เดือน ของคณะกรรมการซีไรต์ปีนี้ ก็ยืนยันความบริสุทธิ์ของ "คนแคระ" และเปิดโอกาสให้กับผลงานของ วิภาส กลับมาสู่วงการวรรณกรรมไทยอีกครั้ง
"เสร็จร่างแรกเอาไปให้เพื่อนนักเขียนอ่าน ผมเขียนเรื่องนี้หลายครั้ง จนมีคนบอกให้โยนทิ้ง แต่ผมก็ต่อสู้กับเรื่องนี้ต่อสู้มาเป็นปี" วิภาส ศรีทอง กล่าว
สอดคล้องกับ ประภัสสร เสวิกุล ประธานคณะกรรมการตัดสิน ที่ระบุถึงเรื่องของนักเขียนว่าเป็นเรื่องอดีต แต่สำหรับ "คนแคระ" ไม่มีความผิดอะไร เพราะกรรมการตรวจแล้วไม่ได้มีปัญหา และมีสิทธิ์ที่จะได้รับรางวัล
ความโดดเด่นของนวนิยายที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ 7 เล่มในปีนี้ สร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการวรรณกรรมเมื่อคณะกรรมการตัดสินรางวัลประกาศให้ผลงานอีก 2 เล่มที่มีความโดดเด่นใกล้เคียงกับผู้ชนะ คือ ในรูปเงา ของ เงาจันทร์ หรือ อำไพ สังข์สุข และ ลักษณ์อาลัย ของ อุทิศ เหมะมูล เพื่อให้งานเขียนคุณภาพได้เป็นที่รู้จักของผู้อ่านมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมที่มีความก้าวหน้าด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์เช่นเดียวกับผลงานในปีนี้