สายสัมพันธ์ดนตรีไทยกับวัด
หลังเงียบเหงาไปเกือบตลอดหน้าฝนเพราะไม่ค่อยมีงาน ชาวบ้านย่านวัดราษฏร์บำรุงก็เริ่มได้ยินเสียงซ้อมวงปี่พาทย์ประจำวัดอีกครั้ง เพื่อเตรียมตัวแสดงฝีมือในงานเทศมหาชาติที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า เพราะหลังออกพรรษาจะเป็นเวลาที่งานชุกที่สุด เกือบ 40 ปีมาแล้วที่ปี่พาทย์คณะนี้อยู่คู่กับวัดตั้งแต่ครั้งครูสุพจน์ โตสง่า ได้รับการอุปถัมภ์จากรองเจ้าอาวาสที่นอกจากเลี้ยงดูให้ข้าวปลาอาหาร ยังให้ที่ปลูกบ้านห่างวัดเพียงคลองกั้น จนสร้างผลงานในฉายามือระนาดน้ำค้างจนเป็นที่เลื่องลือ และสืบทอดต่อมาจนถึง ขุนอิน ณรงค์ โตสง่า บุตรชายคนโต ที่ยังจำได้ดี ถึงครั้งสายสัมพันธ์ดนตรีไทยกับวัดยังแน่นแฟ้น
ฝึกฝนฝีมือจากบ้านครูดนตรี สู่เวทีประชันในวัด และถูกชุบเลี้ยงโดยเจ้านายในวัง เส้นทางชีวิตนักดนตรีไทย สะท้อนผ่านหนังเรื่อง โหมโรง สื่อภาพการอุปถัมภ์ดนตรีไทยในอดีต แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคม และเศรษฐกิจหลัง พ.ศ. 2490 ทำให้นักดนตรีไทยต้องออกจากวังมาอยู่วัดขาดการอุปถัมภ์จากเจ้านาย แต่ยังสามารถสร้างชื่อเสียงโด่งดังทั้ง บ้านครูสกล แก้วเพ็ญกาศ ปี่พาทย์บ้านครูกาหลง พึงทองคำ รวมถึง บ้านครูสุพจน์ โตสง่า เจ้าของฉายาระนาดน้ำค้าง ที่พึ่งพิงอาศัยวัดรับงานสร้างชื่อในฐานะศิลปินชาวบ้าน หากบทบาทของวัดกับวิถีชีวิตคนไทยที่ลดลงก็ทำให้สายสัมพันธ์นี้เสื่อมถอยตามไปด้วย
ท่วงทำนองสำเนียงมอญใน เพลงค้างคาวกินกล้วย เรียบเรียงจากเดิมให้สามารถนำมาเล่นได้กับวงปี่พาทย์มอญคือการสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในวัด ของวงศิษย์สุพจน์ โตสง่า จากความต้องการของชาวบ้านที่มาวัด และแพร่หลายออกไป แม้ปัจจุบันวัดจะไม่สามารถบ่มเพาะสร้างนักดนตรีไทยฝีมือดีได้ดังอดีต และสถาบันที่อุปถัมภ์ดนตรีไทยจะเปลี่ยนไปจากเดิม หากสายสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมยังคงหลงเหลือ แสดงถึงความผูกพันธ์ในฐานะผู้อุ้มชูส่งเสริมดนตรีไทยจนถึงปัจจุบัน