ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวอินเดียประท้วง หลังผู้นำศาสนาเห็นว่าเหยื่อคดีรุมข่มขืนนศ.หญิงมีส่วนผิด

ต่างประเทศ
9 ม.ค. 56
03:08
192
Logo Thai PBS
ชาวอินเดียประท้วง หลังผู้นำศาสนาเห็นว่าเหยื่อคดีรุมข่มขืนนศ.หญิงมีส่วนผิด

เกิดกระแสความไม่พอใจในประเทศอินเดียอีกครั้ง เมื่อผู้นำทางศาสนาคนหนึ่งออกมาบอกว่าเหยื่อในคดีรุมข่มขืนที่เสียชีวิตเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2555 มีส่วนผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเธอไม่ยอมอ้อนวอนร้องขอต่อคนร้ายให้ละเว้นการทำร้ายเธอ ภายหลังผู้นำศาสนาคนดังกล่าวออกมาบอกว่าไม่ได้พูดแบบนั้น แต่สื่อตีความหมายผิดไปเอง

อัสซาราม บาปู ผู้นำทางศาสนาของอินเดีย ได้กล่าวกับเหล่าศิษยานุศิษย์ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมาที่รัฐมหารัชตะ โดยแสดงความเห็นต่อคดีรุมข่มขืนนักศึกษาหญิงวัย 23 ปี ว่าเหยื่อเองก็มีส่วนผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเหยื่อควรจะร้องขอให้ผู้ต้องหาทั้ง 6 คนละเว้นเธอ ซึ่งจะช่วยชีวิตและรักษาศักดิศรีของเธอไว้ได้ รวมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฏหมายเข้มงวดเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศ เพราะจะทำให้ผู้หญิงแจ้งความเท็จ และผู้ที่ถูกกล่าวหาอาจถูกทำร้ายร่างกาย คำกล่าวของอัสซาราม บาปู สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน ส่งผลให้เกิดการประท้วงในรัฐกุจราช เรียกร้องให้ผู้นำศาสนารายนี้ถอนคำพูด

ผู้สื่อข่าวได้ไปสอบถามนายอัสซารามถึงเรื่องนี้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้อธิบายหรือขยายความเพิ่มเติม บอกเพียงว่าเขาจะทำอะไรได้ในเมื่อข้อความของเขาถูกบิดเบือนและถูกนำไปออกอากาศ โดยสื่อมวลชนที่นำเรื่องนี้ไปเผยแพร่กันยกใหญ่ ก็เปรียบเหมือนสุนัขเห่า เวลาสุนัขตัวหนึ่งเห่า ตัวอื่นๆ ก็พลอยเห่าตามไปด้วย แต่ว่าภายหลังเขาก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้พูดแบบนั้น โดยก่อนหน้านี้โฆษกประจำตัวของเขาพยายามจะชี้แจงเพื่อบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน ว่านายอัสซารามไม่ได้หมายความว่าเหยื่อมีส่วนผิดในคดีรุมข่มขืน แต่สื่อมวลชนตีความผิดไปเอง ที่จริงแล้วเขาต้องการสื่อความหมายว่า หญิงสาวที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ควรจะปกป้องตัวเองด้วยการเอ่ยพระนามของพระเจ้า เพื่อดลใจหรือขอร้องให้ผู้กระทำผิดเปลี่ยนใจ

นายกะรัต ซิงห์ แกนนำของพรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรครัฐบาลบอกว่า คนที่เป็นกูรูหรือเป็นผู้นำทางศาสนาควรจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าควรจะกำจัดความมืดมิดหรือแพร่มันออกไป ซึ่งกูรูทุกคนไม่ใช่คนเลวทั้งหมด แต่ความเห็นของนายอัสซารามเป็นสิ่งที่แย่มาก เช่นเดียวกับนางมามะตา ชาร์มา ประธานคณะกรรมาธิการสตรีแห่งชาติบอกว่าความเห็นของนายอัสซารามสร้างความไม่พอใจให้ผู้หญิงทั่วประเทศที่รู้สึกย่ำแย่อยู่แล้วกับเหตุรุมข่มขืนที่เกิดขึ้น

ส่วนที่เนปาลมีการประท้วงติดต่อกันเป็นวันที่ 12 โดยกลุ่มสิทธิสตรีไปชุมนุมหน้าที่พักของนายกรัฐมนตรีในกรุงกาฐมัณฑุ โดยมีข้อเรียกร้องคล้ายๆกับการประท้วงในอินเดียก่อนหน้านี้ คือต้องการให้รัฐบาลเพิ่มการดูแลความปลอดภัยให้ผู้หญิง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลเนปาลได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบและหามาตรการรักษาความปลอดภัยให้ผู้หญิงแล้ว โดยรับปากว่าจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด ชนวนการประท้วงในเนปาลเกิดจากกรณีที่หญิงสาววัย 21 ปีที่เดินทางกลับจากซาอุดิอาระเบีย ถูกเจ้าหน้าที่ของสนามบินนานาชาติกาฐมัณฑุปล้นทรัพย์สิน และข่มขืนซ้ำ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้ๆกับช่วงที่เกิดคดีรุมข่มขืนในอินเดีย ส่งผลให้เกิดกระแสการประท้วงทั่วประเทศ จึงทำให้เกิดกระแสการประท้วงในเนปาลด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง