ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แนวคิดการนักศึกษาวิชาทหารต้องเกณฑ์ทหาร ต้องแก้กฎหมาย

สังคม
6 ก.พ. 56
03:16
608
Logo Thai PBS
แนวคิดการนักศึกษาวิชาทหารต้องเกณฑ์ทหาร ต้องแก้กฎหมาย

ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน หน่วยที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการเรียนของนักศึกษาวิชาทหาร ระบุว่า แนวคิดการให้นักศึกษาวิชาทหารต้องเกณฑ์ทหารนั้น ต้องมีขั้นตอนของการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ยอมรับว่า หน่วยงานของกองทัพสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว พร้อมเสนอเงื่อนไขให้นักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 ยังต้องเกณฑ์ทหาร แต่สำหรับระดับชั้นปีที่ 5 อาจไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร

พล.ท.วิชิต ศรีประเสริฐ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน กล่าวถึงกรณีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก มีแนวคิดที่จะให้ผู้ที่จบหลักสูตรนักศึกษาวิชาทหาร ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ว่า เรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด ขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ในทันที แต่ที่ผ่านมาทาง มีความคิดเช่นนี้เหมือนกัน เพราะอนุสัญญาเจนีวาห้ามไม่ให้เด็กฝึกอาวุธ จึงทำให้ นักศึกษาวิชาทหารไม่สามารถฝึกอาวุธได้อย่างเข้มข้นเทียบเท่าการฝึกทหารเกณฑ์ สำหรับผู้ที่เรียนจบ ร.ด.ชั้นปีที่ 3 จะได้รับการแต่งตั้งเป็นทหารยศนายสิบ หากต้องออกมาปฏิบัติงานก็มีสิทธิปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้น จึงต้องมีการฝึกเพื่อให้สมกับที่มีการประดับยศเป็นผู้นำ

ส่วนการผลักดันให้แนวคิดดังกล่าว ต้องแก้ไขในระดับกฎกระทรวงกลาโหม แต่ในส่วน พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.2503 คงไม่มีปัญหา เพราะไม่ได้กำหนดระดับชั้น เป็นเพียงการส่งเสริมด้านวิชาการเท่านั้น

ด้าน พล.ต.ทวีชัย กฤษิชีวิน ผู้บัญชาการศูนย์การกำลังสำรอง กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 ปัจจุบันไม่ต้องเป็นทหาร ทำให้มีการแย่งชิงกันเข้าเรียน และเกิดความไม่ยุติธรรมขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีเงินที่ไม่ต้องการให้ลูกเป็นทหารด้วยการมาเรียน รด. ทั้งนี้ ในอนาคตจะต้องพูดคุยว่า นศ.วิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 แล้วอาจจะต้องเป็นทหารต่อประมาณ 6 เดือน เหมือนกับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรี โดยใช้สิทธิสมัคร

ส่วนนักศึกษาวิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 5 นั้นอาจไม่ต้องเป็นทหารต่อ แต่ถ้า นศ.วิชาทหารที่เรียนจบชั้นปีที่ 3 แล้วไม่ต้องการเป็นทหารจะต้องเรียนให้จบชั้นปีที่ 5 ที่สำคัญกฎหมายสากลระบุว่า เด็กไม่สามารถฝึกอาวุธได้ จึงจำเป็นต้องขยายหลักสูตร โดยปรับไปอยู่ชั้นปีที่ 4-5 เพื่อจะได้มีความเชี่ยวชาญด้านการทหารมากขึ้น

ขณะนี้มีนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1-3 ทั่วประเทศประมาณ 300,000 กว่าคน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมาก ส่วนชั้นปีที่ 4-5 มีอยู่ประมาณหมื่นกว่าคน จึงทำให้เกิดการแย่งกันเข้าเรียน เพื่อไม่ต้องเป็นทหาร แต่คนที่เรียนชั้นปีที่ 4-5 ต้องใจรักจริง โดยจะได้ยศเทียบเท่าร้อยตรี เพื่อเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรี

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยใช้ทหารกำลังสำรอง และเมื่อ 10 ปีที่ผ่านก็เพิ่งฟื้นฟูระบบกำลังสำรอง เพื่อจัดให้เป็นรูปแบบระบบใหม่ โดยจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐฯ ที่มีการพัฒนาเรื่องนี้พอสมควร

แม้จะมีคำยืนยันถึงความเหมาะสมของการปรับเปลี่ยนกฎการเกณฑ์ทหาร โดยมีการระบุว่า การเปิดรับนักศึกษาวิชาทหารเพิ่มขึ้น จะทำให้สัดส่วนของทหารกองประจำการ หรือ ทหารเกณฑ์มีสัดส่วนน้อยลง แต่จากสถิติการเกณฑ์ทหารที่เว็บไซต์สยามอินเทลเลนเจนรวบรวมไว้ 3 ปีย้อนหลัง จะพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงหลักแสนในปี 2555 แบ่งเป็น กองทัพบกมากที่สุดเกือบ 80,000 คน ที่เหลือเป็น กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองทัพไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เมื่อเทียบสถิติจำนวนทหารไทย ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน จะพบว่า สูงกว่าประเทศอย่าง สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

เมื่อคำนวณงบประมาณที่ต้องจ่ายให้ ทหารเกณฑ์ 1 คน เฉลี่ยเดือนละ 4,000 บาท บวกค่าครองชีพ อีก 4,000 บาท รวมเป็น 8,000 บาท หากต้องจ่ายให้ทหารเกณฑ์หลักแสนคนต่อเดือนจะมากกว่า 800 ล้านบาท ใน 1 ปี ต้องใช้งบประมาณเกือบ 10,000 ล้านบาท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง