ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มทภ.4 เชื่อมีความขัดแย้งในกลุ่มบีอาร์เอ็น

ภูมิภาค
18 ก.ค. 56
01:20
85
Logo Thai PBS
มทภ.4 เชื่อมีความขัดแย้งในกลุ่มบีอาร์เอ็น

แม่ทัพภาคที่สี่ เชื่อว่า มีความพยายามจากกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต้องการยุติการก่อเหตุไม่สงบในช่วงเดือนรอมฎอน แต่มีบางกลุ่มไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าเหตุระเบิดทั้ง 2 ครั้งเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส เกิดจากการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ ที่ต้องการทำลายบรรยากาศสันติสุขช่วงรอมฎอน

เหตุวางระเบิดทหารพรานขณะลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยให้ครูในอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และอำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา แม่ทัพภาคที่ 4 เชื่อว่า เป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในกลุ่มบีอาร์เอ็น และเห็นว่าบรรยากาศสันติสุขตลอดช่วง 4 วันที่ผ่านมา หลังผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติภาพ แถลงข่าวประกาศยุติการก่อเหตุร้ายช่วงรอมฏอน บอกให้เห็นเช่นกันถึงความพยายามที่ต้องการสร้างบรรยากาศสันติภาพของกลุ่มนายฮัซซัน ตอยิบ ซึ่งอาจไม่สามารถควบคุมกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ได้ทั้งหมด

พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 หวังว่า นายฮัซซันจะใช้ความพยายามให้มากขึ้นไม่ให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ปฏิบัติกิจทางศาสนาโดยไม่ต้องกังวลในเรื่องสถานการณ์เหตุร้าย

ขณะที่เมื่อช่วงเช้าในวันที่ 17 กรกฎาคม ระหว่างเสวนาปัญหาภาคใต้ของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยมีข้อสังเกตจากตัวแทนกลุ่มสตรีมุสลิมในพื้นที่ อยากเห็นภาครัฐให้ความสำคัญกับการทำงานของภาคประชาสังคมในพื้นที่ เชื่อเป็นแนวทางหนึ่งที่แก้ปัญหาขัดแย้งได้

ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม อดีต รมช.มหาดไทยของพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาลใช้โครงสร้างของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ปัญหาด้านสังคม เศรษฐกิจ และการพัฒนาในพื้นที่

ผศ.ปิยะ กิจถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงโจทย์ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ มีตั้งแต่เรื่องคุณภาพการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ การสร้างความสงบในพื้นที่ และการให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และเห็นว่าหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาในพื้นที่คือการลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ และใช้สันติวิธีแก้ปัญหาขัดแย้ง ไม่ให้กลุ่มก่อความไม่สงบมีเงื่อนไขนำไปเคลื่อนไหวในการต่อสู้

ขณะที่นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวไทยพีบีเอส กล่าวสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการอยู่เชื่อเป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาขัดแย้ง และเห็นว่าหากไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐในเรื่องรูปแบบการกระจายอำนาจอาจทำให้เกิดปัญหาในการพูดคุย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง