กมธ.ปฏิรูปการเมือง รับฟังความเห็นพรรคการเมือง
วันนี้ (15 พ.ค.2558) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ได้จัดการสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนและพรรคการเมืองเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่ อาทิ นายสามารถ แก้วมีชัย จากพรรคเพื่อไทย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ จากพรรคประชาธิปัตย์, นายปิยชนก ลิมปะพันธุ์ แกนนำพรรคชาติพัฒนา, นายนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา และตัวแทนภาคประชาชน รวมกว่า 100 คน
ในช่วงแรกของการสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นถึงการเปิดโอกาสให้กลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ โดยพรรคการเมืองที่เคยมี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะจะทำให้เกิด 2 มาตรฐาน ไม่เป็นการสนับสนุนกิจการพรรคการเมือง รวมถึงจะทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในระบบการเมือง ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็กและภาคประชาชนส่วนใหญ่ สนับสนุนให้มีกลุ่มการเมือง เพราะเป็นการเปิดโอกาสทางการเมืองให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ส่วนเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ทั้งพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก และภาคประชาชน แสดงความกังวลเกี่ยวกับระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่แบ่งเป็น 6 ภาค ที่อาจเกิดความสับสนกับนโยบายระดับชาติ และวิธีการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่ให้เลือกตัวบุคคลในบัญชีรายชื่อ จะทำให้เกิดการซื้อเสียงมากขึ้น จึงควรใช้ระบบที่ใกล้เคียงกับแบบเดิมที่เคยใช้
ทั้งนี้ ในการสัมมนารับฟังความเห็นตลอดทั้งวัน มีประเด็นทั้งหมด 8 ประเด็นที่จะต้องหารือ ประกอบด้วย 1.) กลุ่มการเมือง 2.) ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสม 3.) ที่มาสมาชิกวุฒิสภา 4.) ที่มาและคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี 5.) อำนาจฝ่ายบริหารตามมาตรา 181 และ 182 6.) อำนาจหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง 7.) การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 8.) เรื่องอื่นๆ
ขณะที่ กรณีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมกล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ยังไม่ได้เสนอความเห็นการทำประชามติร่างฯมายังรัฐบาล ส่วนในวันที่ 19 พ.ค.นี้ เป็นวาระการประชุมครม.-คสช.แต่การจะให้ความเห็นเรื่องทำประชามติร่างฯหรือไม่ น่าจะเป็นการพิจารณาในส่วนของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะ คสช.เน้นบทบาทดูความสงบเรียบร้อยมากกว่า
ทั้งนี้การจะตัดสินใจทำประชามติก็ต้องพิจารณาจากความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ด้วยและต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน