ยูนิเซฟเสนอปรับกลยุทธ์การสร้างเสริมสุขภาพ
เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหัวข้อ "เราลงทุนในระบบสร้างเสริมสุขภาพไปถึงไหน" ในการประชุมนานาชาติด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ครั้งที่ 21 นพ.รูดอล์ฟ นิพเพนเบิร์ก ที่ปรึกษากองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เผยว่า การสร้างเสริมสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะเด็กแรกเกิดเป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาควรเร่งดำเนินการให้ได้รับการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสม รวมทั้งควรมีกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด แต่ได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างสุขภาพระดับชุมชน ทั้งในโรงเรียน, องค์กรท้องถิ่น, ศูนย์เด็กเล็ก และต้องกระจายระบบสาธารณสุขสู่ท้องถิ่นให้มากกว่าการกระจุกตัวในเมือง
เวทีการประชุมยังชื่นชมประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นตัวอย่างประเทศที่มีระบบการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ ทั้งการส่งเสริม และการรักษาที่ดี โดยมีการลงทุนต่อคนต่อหัวถึงรายละหมื่นกว่าบาท แต่ประสบความสำเร็จในการติดตามดูแลและส่งเสริมสุขภาพแบบต่อเนื่อง ช่วยลดปัญหาทางสุขภาพระยะยาว แม้จะลงทุนสูง แต่ถือว่าคุ้มค่า
ขณะที่ประเทศไทย สูญเสียการลงทุนทางสุขภาพไปกับเรื่องของการรักษาโรคเรื้อรัง เนื่องจากขาดทักษะการป้องกันสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพ และเห็นว่าควรปรับกลยุทธ์การสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง