ครบรอบ 33 ปี
น้ำเสียงใสๆ นี้มาจากแมรมด้า เครื่องดีดที่เราอาจไม่คุ้นตานัก เป็นดนตรีพื้นบ้านในแถบแอฟริกา ที่อาจารย์บรูซ แกส ตันไปเสาะหามา เพื่อให้วงดนตรีเงาะป่าเล็กๆ นี้ ใกล้เคียงที่สุดกับเรื่องราวที่ได้อ่านในบทพระราชนิพนธ์เงาะป่า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีระนาดอายุกว่า 100 ปี ที่ได้รับตกทอดมาจากครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ที่ไม่เพียงมีน้ำเสียงกังวาล ใส แต่ศิลปินฝรั่งหัวใจไทย ยังชี้ให้ดูลวดลายฉลุเก่าแก่บนตัวเครื่อง ที่เป็นฝีมือสล่าที่แสนจะปราณีต นี่เป็นเพียงเครื่องดนตรีส่วนหนึ่งที่เตรียมไว้สำหรับคอนเสิร์ตใหญ่ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ถือโอกาสฉลองครบรอบ 33 ปี ที่ยืนหยัดรักษาดนตรีไทยประยุกต์ให้เป็นที่รู้จัก โดยยึดหลักคำสอนของศิลปินแห่งชาติ ครูบุญยงค์ เกตุคง เป็นแนวทางในการทำงาน
บนรากฐานของความเป็นไทย แต่ประยุกต์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะเครื่องดนตรีทดลอง ที่บรูซ แกสตันมักหยิบสิ่งของรอบตัว มาบรรเลงเป็นเพลง อย่างดนตรีเก้าอี้ ที่ใช้ท่อพลาสติก ที่มีความยาวต่างกัน เพื่อให้ได้น้ำเสียงที่ต่างกัน เกิดเป็นความสนุกในท่วงทำนอง
ชุดผักผลไม้ นี่เป็นอีกชุดการแสดงปี่พาทย์โภชนาการ อีกความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีของอาจารย์ บรูซ แกสตัน ซึ่งหน้าตาน่ารับประทานมากกว่าจะนำมาบรรเลง
เมื่อแครอทต้องกลายเป็นปี่ มะละกอหั่นท่อนได้เสียงทุ้มหนักเบา ทำหน้าที่คล้ายกลอง โดยมีเสียงเมล็ดในฝักของพืชหลายชนิดช่วยเพิ่มท่วงทำนอง ทั้งหมดเตรียมนำเสนอในเพลงไทยเดิมพม่าแทงกบ
เพลงประจำวง ที่เคยเล่นร่วมกันครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อนอย่าง "ฟองน้ำ" สอดประสานด้วยเสียงเครื่องดนตรีทั้งของไทย และฝั่งตะวันตก อย่างไวบลาโฟน เครื่องตีที่ทำจากโลหะ โดยมีท่อด้านล่างช่วยขยายเสียง เพลงนี้ไม่เพียงเป็นเพลงไทยเดิม ที่เป็นเหมือนตัวแทนของวง โดยแฝงปรัชญาทางพุทธศาสนา ที่ว่าแม้ฟองน้ำจะสวยเพียงใด แต่ต้องแตกสลายในเวลาอันสั้น เป็นดั่งสัจธรรมของทุกสิ่งบนโลก
คอนเสิร์ตร่วมสมัยฟองน้ำ ยังมีเพลงไทยเดิมให้ฟังแบบเต็มอิ่ม เช่นเพลงเซ่นเหล้า, ตาบอดคลำช้าง, พม่าห้าท่อนสามชั้น, เทพทอง และชเวดากอง จัดแสดง 17 ก.ย.2556 ที่โรงละครแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย