วิเคราะห์ถอนร่าง
ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (7 พ.ย.) นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 แจ้งผลการหารือกับส.ส.เจ้าของร่างพ.ร.บ.ปรองดองและร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทั้ง 6 ฉบับ ได้รับคำยินยอมที่จะถอนร่างกฎหมายออกจากระเบียบวาระการประชุมที่ค้างการพิจารณาอยู่ จึงขออนุญาตใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุม ข้อ 21 ในการเลื่อนร่างกฎหมาย ทั้ง 6 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน และอ้างข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 53 เพื่อขออนุมัตจากห้องประชุม เพื่อลงมติถอนออกจากระเบียบวาระ
หลังจากนั้น นายนิคม วรปัญญา ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม รวมถึงนายสามารถ แก้วมีชัย นายพีระพันธุ์ พาลุสุข นายนิยม วรปัญญา นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ก็ลุกขึ้นเสนอญัตติขอถอนร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับ ออกจากระเบียบวาระการประชุม ซึ่งที่ประชุมก็ลงมติ 310 ต่อ 1 เสียงเห็นชอบให้ถอนออกไป
การพิจารณาถอนร่างกฎหมายที่มีลักษณะของการนิรโทษกรรมทั้ง 6 ฉบับนี้ เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 53 ระบุว่า ญัตติที่บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมแล้ว หากผู้เสนอญัตติจะถอนญัตติ หรือจะแก้ไขเพิ่มเติม หรือจะถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมกันเสนอ หรือผู้รับรองจะถอนการรับรองญัตติ จะต้องได้รับความยินยอมของที่ประชุม
อดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่งเปิดเผยกับไทยพีบีเอสว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ค้างการพิจารณานั้น สามารถดำเนินการได้ตามข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณานั้น แม้จะมีข้อเสนอของนักวิชาการให้นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เจ้าของร่างกฎหมายขอมติอนุมัติจากสภาฯ เพื่อถอนร่างกฎหมายโดยเร็ว แต่ตามหลักปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากร่างกฎหมายได้ถูกพิจารณา และดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไปแล้ว
ดังนั้นการดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมาย จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 147 และ 148 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถอ้างอำนาจตามข้อบังคับการประชุมสภา เพื่อดำเนินการถอนร่างกฎหมายโดยเร็วได้ หากแต่ต้องรอให้วุฒิสภาพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งหากวุฒิฯ ลงมติยับยั้ง หรือคว่ำร่างกฎหมาย ก็ย่อมหมายความว่า ตามกระบวนการนั้นต้องรอให้ครบกำหนด 180 วัน ก่อนแสดงเจตจำนงค์ถอนร่างออกจากระบบ หรือปล่อยให้ตกไป มิเช่นนั้นจะกลายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้