2 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ ขอแกนนำ-ผู้ชุมนุมต่อต้านรบ.เข้าใจการทำงานสื่อ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ขอแกนนำ-ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล เข้าใจการทำงานของสื่อมวลชน ชี้บุกสถานีข่าวอาจเสี่ยงเกิดความรุนแรง และเข้าใจผิด ขอให้ส่งหนังสือตรวจสอบการทำงานที่กสทช. และองค์กรวิชาชีพแทน
วันนี้ (25 พ.ย.) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง โดยระบุว่า การเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุนนุมเวทีราชดำเนินไปยังสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวนั้น ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการกดดัน และคุกคามสื่อ
ตลอดจนต้องการเรียกร้องให้แกนนำ และผู้ชุมนุมเข้าใจการทำงานสื่อมวลชนแต่ละสำนักที่รายงานข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนเอง ขณะที่หากต้องการร้องเรียน หรือไม่พอใจการทำงานให้ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่มีหน้าที่กำกับสื่อโทรทัศน์และวิทยุโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำหน้าที่โดยยึดมั่นในกรอบจริยธรรมวิชาชีพของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และให้กำลังใจกับทุกคนที่ทำหน้าที่ทุกสนามข่าว
รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์ เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
ตามที่ได้มีการจัดชุมนุมทางการเมือง และมีมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มมากขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในการชุมนุมของแต่ละฝ่ายแต่ละเวที แต่ทั้งนี้ในการชุมนุมดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน ในคืนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ตลอดจนถึงคำประกาศของแกนนำการชุมนุมที่จะยกระดับการชุมนุม โดยการเคลื่อนขบวนกลุ่มผู้ชุมนุมไปยังสถานีโทรทัศน์ ช่อง 3, 5, 7, 9 และ NBT และสถานที่ราชการต่างๆ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องนำผู้ชุมนุมไปยังสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวว่า เพราะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงได้ และสุ่มเสียงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นการใช้กำลังกดดันหรือคุกคามการหน้าที่ของสื่อ ทั้งนี้ หากผู้ชุมนุมจากทุกกลุ่มไม่พอใจการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แต่ละช่อง แกนนำผู้ชุมนุม สามารถส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือกับผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ได้โดยตรง รวมทั้งทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยที่มีหน้าที่กำกับสื่อโทรทัศน์และวิทยุโดยตรงได้
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องต่อแกนนำ และผู้เข้าร่วมชุมนุมให้เข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ให้สามารถทำหน้าที่การนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ อันจะสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน และขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่การรายงานข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านมากที่สุดเพื่อประกอบการตัดสินใจใดๆ
รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายตระหนักว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ซึ่งประกอบด้วย สื่อมวลชน, ผู้สื่อข่าว, ช่างภาพ ทำหน้าที่รายงานข่าว และข้อเท็จจริงตามหน้าที่ของตนไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการข่มขู่ คุกคาม และแทรกแซงไม่ว่าจากฝ่ายใด และผู้ชุมนุมจากทุกกลุ่มไม่ควรปิดล้อมการทำหน้าที่ของนักข่าวในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ไม่สามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลและข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้การนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองอาจไม่เป็นที่พอใจต่อผู้ชุมนุมแต่ละฝ่าย อันเนื่องมาข้อเท็จจริงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจไม่เป็นไปตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมคาดหวัง ซึ่งในเรื่องนี้เราขอยืนยันว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลได้พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์อย่างถึงที่สุด เพราะเราตะหนักอยู่เสมอว่า การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในภาคสนามคือผู้ที่อยู่ใกล้ข้อเท็จจริงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมิสามารถบิดเบือนเป็นอื่นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สื่อมวลชนเองก็ตระหนักว่า การรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการตัดสินใจ เป็นสิทธิการเลือกรับข่าวสารของประชาชน
ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของฝ่ายต่าง ๆ ที่ดำรงอยู่ในขณะนี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำหน้าที่โดยยึดมั่นในกรอบจริยธรรมวิชาชีพของสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด ด้วยการนำเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และให้กำลังใจกับทุกคนที่ทำหน้าที่ทุกสนามข่าว และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ใช้สื่อของรัฐปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในแนวทางสันติวิธีเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้ต่อสาธารณะ
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
25 พฤศจิกายน 2256