เมื่อวานนี้ (9 มี.ค.2559) น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำดื่มให้เพิ่มสต็อก น้ำดื่มบรรจุขวดจาก 5-7 วันเป็น 10 วัน เริ่ม ตั้งแต่เดือน มี.ค.จนสิ้นสุดภัยแล้ง เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าน้ำดื่มจะไม่ขาดแคลนในช่วงหน้าร้อนหรือช่วงภัยแล้งปีนี้แน่นอน ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตน้ำดื่มยังได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำจากช่วงปกติร้อยละ 20-30 รองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วประเทศด้วย
ทั้งนี้ ผู้ผลิตน้ำดื่ม 8 ราย ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตน้ำดื่มร้อยละ 80 ของปริมาณตลาด น้ำดื่มในไทยยืนยันว่าน้ำดื่มส่วนใหญ่มาจากน้ำบาดาล ซึ่งมีความลึกลงสู่ใต้ดิน 300-400 เมตร ซึ่งลึกกว่าบ่อบาดาลทั่วไปที่ 100 เมตร และปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถนำมาผลิตน้ำดื่มได้ 30-40 ปี จึงอยากให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าน้ำดื่มในประเทศไทยไม่ขาดแคลนแน่นอน และไม่อยากให้ร้านค้า หรือผู้บริโภคเกิดการกักตุน
นอกจากนี้ กรมการค้าภายในยังได้ขยับสินค้าน้ำดื่มบรรจุภาชนะผนึก เข้าไปอยู่ในรายการสินค้าควบคุมจับตาเป็นพิเศษตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณทุกวัน
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ยอมรับว่ากังวลกับน้ำเพื่อการเกษตร อาจกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์และพืชเพาะปลูกเสียหายจากขาดน้ำ จึงสั่งการให้จับตาปริมาณและราคาไข่ไก่ ไก่สด สุกร มะนาว ผักใบทุกชนิด ซึ่งตอนนี้ ผักใบบางชนิดราคาเพิ่มขึ้นแล้วอีกกิโลกรัมละ 3-5 บาท ส่วนเนื้อสัตว์ยังไม่เคลื่อนไหว เพราะปริมาณยังเพียงพอ และเป็นช่วงปิดเทอมการบริโภคอาจไม่สูงนัก
ส่วนกรณีภาวะภัยแล้งที่ทำให้เกิดถนนทรุดเป็นระยะทางยาวในหลายพื้นที่จนมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัย นายเอนก ศิริพานิชพากร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานฯ กล่าวว่า กรณีถนนทรุด เป็นถนนเลียบคลองชลประทานที่มีการถมถนนขึ้นไปสูง เมื่อน้ำลดระดับลงจึงไม่มีแรงพยุง และดินบริเวณนั้นเป็นดินอ่อนโอกาสที่เกิดการทรุดจึงเกิดขึ้นได้ ส่วนอาคารที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ลาดเอียงอาจมีความเสี่ยง หากเกิดการสไลด์ของดินได้ แต่ถ้าอยู่ห่างออกมาไม่น่าจะได้รับผลกระทบ