วันนี้ (7 เม.ย.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ข้อสรุปจะเปิดประมูล 4 จี 900 MHz ใหม่ ภายในเดือน มิ.ย.นี้ และตั้งราคาเริ่มต้นที่ 75,000 ล้านบาท โดยจะตัดสิทธิ์บริษัท แจส โมบาย ที่ทิ้งใบอนุญาต ไม่มาชำระค่าประมูล และจะไม่ให้บริษัท ทรูมูฟเอช ที่ชนะการประมูลเมื่อปีที่แล้ว เข้าร่วมประมูลเพื่อป้องกันการผูกขาด
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยถึง กสทช.ขออนุมัติจากรัฐบาลให้ เอไอเอส จ่ายค่าคลื่นความถี่แทนบริษัท แจส โมบาย ว่า เบื้องต้นทราบเรื่องดังกล่าว แต่ยังไม่เห็นเรื่องอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าตามข้อกฎหมายจะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะยังไม่เห็นรายละเอียด ส่วนการเสนอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้นยังตอบไม่ได้เช่นกัน และขณะนี้ยังไม่มีการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการศึกษาเรื่องดังกล่าว แต่หากมีการมอบหมายก็จะได้พิจารณาต่อไป
นายวิษณุ กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ จะต้องผ่านการพิจารณาของ กสทช.เสียก่อน เพราะหาก กสทช.ยังไม่เห็นด้วยก็คงเป็นไปได้ยาก และหากผ่านด่าน กสทช.จริง ทาง กสทช.ก็ต้องคิดแล้วว่ามีความเป็นไปได้หรือ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบ และไม่เคยรู้เรื่องกติกาการประมูลคลื่นความถี่เป็นอย่างไร
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวถึงกรณีนายวิษณุต้องการทราบความเห็นจาก กสทช.ว่า สำนักงาน กสทช.ได้ทำบทวิเคราะห์ความเห็นส่งแนบไปกับหนังสือที่ส่งให้แก่ คสช. เพื่อพิจารณาใช้มาตรา 44 แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ เพราะต้องให้ คสช.หรือนายวิษณุพิจารณาก่อน และในวันพรุ่งนี้รองนายกรัฐมนตรีเชิญทาง กสทช.ไปชี้แจงด้วยวาจาอีกครั้ง
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กว่า การที่เอไอเอสเสนอรับช่วงใบอนุญาต 4 จีต่อจากแจส โดยยอมจ่ายที่ราคาเดิมนั้น หากผู้ประกอบการรายอื่นไม่คัดค้าน ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้งเอไอเอส ซึ่งแก้ปัญหาของตนเองได้ รัฐบาล และ กสทช.ที่ได้รายได้ไม่น้อยกว่าเดิม และผู้บริโภคที่ไม่มีปัญหาซิมดับ เรียกได้ว่าสามารถแก้ปัญหาไปได้ และเพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ อีกในอนาคต กสทช.ควรจัดประมูลคลื่นล่วงหน้าก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัมปทานของผู้ประกอบการจะหมดอายุนานพอควร เช่น 1 ปีขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และเกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ