หากไม่นั่งเรือเข้ามาสำรวจยังพื้นที่ด้านในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ทีมข่าวไทยพีบีเอสก็อาจจะไม่ได้เห็นสันเขาที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นจำนวนมาก และรอยคราบน้ำที่ลดระดับลงหลายเมตร เขื่อนภูมิพล คือ 1 ใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีน้ำใช้การน้อยสุด เหลือน้ำใช้การเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
เขื่อนภูมิพลน้ำใช้การเหลือ ร้อยละ 2
นายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล กล่าวว่า จะต้องมีน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 15 - 20 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ที่ผ่านมามีน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมากสุดเพียงวันละ 5 -10 ล้านลูกบาศ์กเมตรเท่านั้น
“เราอยากให้น้ำไหลเข้ามาปริมาณต่อเนื่อง 10-20 ล้านลูกบาศ์กเมตรต่อวัน ในเดือนนี้ ซึ่งปีหนึ่งๆ ความต้องการน้ำของเขื่อนภูมิพลอยู่ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศ์กเมตร แต่ถ้าน้ำไหลเข้ามาในลักษณะนี้จะน้อยกว่าที่เราใช้กัน”
แม้น้ำใชการจะเหลือน้อยแต่เขื่อนภูมิพลยังระบายน้ำวันละ 3 ล้านลูกบาศ์กเมตร เช่นเดียวกับเขื่อนสิริกิติ์ ที่ต้องระบายน้ำถึงวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่นับว่าเป็นเรื่องยากหากจะฟื้นฟูความมั่นคงทางน้ำทั้ง 2 เขื่อนให้กลับมาอีกครั้ง หากฝนยังตกไม่สม่ำเสมอ
“ถ้าเขื่อนภูมิพลได้น้ำ 5 พัน 5 ร้อยล้าน เขื่อนสิริกิติ์ 5 พัน 5 ร้อยล้าน มันก็จะมีความมั่นคงทางน้ำของประเทศ คือทำนาได้ตามปกติ ก็อย่างไรก็ตามอ่างเก็บน้ำของเขื่อนภูิมิพล ยังสามารถรับได้อีก 9 พันกว่าล้าน ซึ่งเราอยากได้น้ำเยอะๆเพื่อเกษตรกรจะได้อุ่นใจในการประกอบอาชีพในปีหน้า”นายวรพจน์ กล่าว
แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะคาดว่าในช่วงปลายฤดูฝนนี้ ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะมีฝนตกชุก แต่การประเมินน้ำต้นทุนในปีนี้ของเขื่อนภูมิพล กลับคาดว่าจะมีน้ำไหลเขื่อนเพียง 3 พัน ถึง 4 พันล้านลูกบาศ์กเมตรเท่านั้น ทั้งที่ยังเหลือพื้นที่รับน้ำอีกมาก