ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นายกฯ ไม่บังคับ ปชช.ลงทะเบียนเอนี ไอดี-ผลักดันลดต้นทุนผลิตข้าวเหลือไร่ละ 3,000 บาท

การเมือง
17 มิ.ย. 59
21:02
319
Logo Thai PBS
นายกฯ ไม่บังคับ ปชช.ลงทะเบียนเอนี ไอดี-ผลักดันลดต้นทุนผลิตข้าวเหลือไร่ละ 3,000 บาท
พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้การลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากระบบชำระเงินของรัฐ เอนี ไอดี เป็นไปตามความสมัครใจไม่มีการบังคับประชาชนแน่นอน พร้อมเตรียมผลักดันองค์ความรู้ช่วยเหลือเกษตรกร ลดต้นทุนทำนาเหลือไร่ละ 3,000-3,500 บาท

วันนี้ (17 มิ.ย.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. 2559 เวลา 20.15 น. ว่า การเปลี่ยนแปลงภายในประเทศที่เป็นผลจากการขับเคลื่อนประเทศ ตามนโยบาย “Digital Economy” เรื่องหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ การนำระบบการชำระเงินแบบ “เอนี ไอดี” (Any ID) หรือ ระบบการชำระเงินแบบ “นานานาม” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล มาใช้สำหรับการโอนจ่ายเงินภาครัฐให้กับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลังจะเปิดให้ประชาชนที่สมัครใจลงทะเบียนในระบบเอนี ไอดี ซึ่งผู้ประสงค์จะลงทะเบียนต้องมีข้อมูล 3 อย่าง คือ

1.เลขที่บัตรประชาชน

2.เบอร์โทรศัพท์มือถือ

3.เลขที่บัญชีธนาคาร

โดยผู้ที่ลงทะเบียนจะได้รับความสะดวกสบายเบื้องต้น 2 ประการคือ

1.การโอนเงินสวัสดิการจากรัฐบาล กรณีประสบภัยพิบัติ ผลผลิตตกต่ำ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรวมทั้งเงินสวัสดิการของข้าราชการ เช่น เงินบำนาญ เบี้ยหวัด เงินบำนาญพิเศษ จะเข้าบัญชีธนาคารของผู้ลงทะเบียนโดยตรง ลดขั้นตอนแต่ได้เงินจากทางภาครัฐเร็วขึ้น
ส่วนเงินคืนภาษีจากกรมสรรพากร ก็สามารถโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ลงทะเบียนได้ทันที ไม่ต้องส่งเป็นเช็คขีดคร่อมทางไปรษณีย์ เพราะปัญหาที่ผ่านมามีผู้รับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้งก็ระยะทางไกล มารับเงินจำนวนน้อยก็ไม่อยากมา โดยจะเริ่มให้บริการนี้ หลังวันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป

2.ปัจจุบันเราโอนเงินโดยใช้เลขบัญชี ผ่านเครื่องเอทีเอ็ม อินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชันไปยังบัญชีต่างธนาคารต่างๆ รวมกันทั้งประเทศกว่า 76 ล้านบัญชี ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ครั้งละ 25-35 บาท แต่ระบบเอนี ไอดีใช้แค่เบอร์มือถือ ประชาชนก็สามารถโอนเงินให้กันได้โดยไม่ต้องจำเลขบัญชี ค่าธรรมเนียมถูกกว่า เมื่อเทียบกับการโอนเงินแบบเดิม

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่ออีกว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลในปี 2559 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ในวันที่ 12 ส.ค. 2559 ที่กำลังจะมาถึง รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริของล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ ของปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะในเรื่อง ป่า น้ำ ดิน เกษตรกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน เช่น แก้มลิง ขนมครก ฝายชะลอน้ำ ป่าชุมชน เกษตรทฤษฎีใหม่ ไร่นาสวนผสม ฯลฯ มาประยุกต์ ต่อยอด ขยายผลความสำเร็จ เพื่อจะผลักดักในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ให้เกิดการบูรณาการทุกกระทรวงร่วมกัน

“ผมอยากให้ชาวไทยทุกคนภาคภูมิใจในสมบัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานไว้เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นต้นแบบหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก” นายกฯ กล่าว

โดยที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/2560 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวมราว 930 ล้านบาท ได้แก่

โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มเป้าหมายในแหล่งปลูกข้าวข้าวหอมมะลิ ใน 23 จังหวัด 1,280 หมู่บ้าน 64,000 ครัวเรือน หรือครัวเรือนละไม่เกิน 125 กิโลกรัม คิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก 640,000 ไร่

โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวไปปลูกพืชที่หลากหลายหรือไร่นาสวนผสม ในฤดูทำนาปี 59 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาปรัง ปี 2560 เนื่องจากต้นทุนน้ำน้อย ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้พี่น้องเกษตรกร60,000 ครัวเรือน พื้นที่ 300,000 ไร่ ใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา เข้าร่วมโครงการ และรวมตัวเป็นกลุ่มผลิตเพื่อให้สะดวกต่อการบริหารจัดการในด้านจัดการเรียนรู้ การผลิต การจัดการผลผลิต และการตลาด ให้มีความเหมาะสม เป็นต้น

อีกโครงการคือการ บูรณาการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ทั้ง 882 ศูนย์ ให้เป็นศูนย์บริการรวมแก่เกษตรกรเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในอาชีพ และมีเป้าหมายภาพรวมทั้งประเทศต้องการให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลงเหลือ 3,000 – 3,500 บาท ต่อไร่

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่ออีกว่า รัฐบาลยังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ ดาวเทียม แอปพลิเคชันบนมือถือ มาประยุกต์ใช้ เพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ส่งให้ถึงมือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร อาชีพอิสระ และผู้มีรายได้น้อย ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล 7,424 แห่งทั่วประเทศ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

ร่วมกับ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตร

รวมถึง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร 882 แห่ง ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และศูนย์ดิจิทัลชุมชน 2,000 แห่ง ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซึ่งการขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ Free Wi-Fi ก็จะเพิ่มการกระจายสู่ชุมชน 10,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอนาคต

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 ศูนย์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องหาจุดเชื่อมต่อให้ได้ ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงไอซีทีจัดการบูรณาการ เพื่อเพิ่มศักยภาพของแต่ละกระทรวงและยังช่วยประหยัดงบประมาณ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล สู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะทำให้ประเทศชาติมีความ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง