ในงานเสวนา "รถไฟความเร็วสูง ความคุ้มค่าระยะยาว บนการก่อสร้างระยะสั้น" ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ซึ่งนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการขนส่งและจราจร เห็นว่า รัฐบาลควรชะลอการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่จะเริ่มก่อสร้างระยะแรก 3.5 กิโลเมตรออกไปก่อน เพราะเชื่อว่าเมื่อสร้างแล้วเสร็จก็ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริง หากจะสร้างก็ควรก่อสร้างให้ถึง จ.หนองคาย รวมระยะทาง 600 กิโลเมตร เพื่อให้เชื่อมต่อไปยังประเทศลาวและจีนได้
ขณะที่นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า รัฐบาลควรก่อสร้างในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ก่อน เนื่องจากเส้นทางนี้มีผู้โดยสารเดินทางปีละประมาณ 6-7 ล้านคน เเต่ต้องกำหนดราคาให้แข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำได้
ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะก่อสร้างรถไฟทางคู่อยู่แล้ว ซึ่งจะใช้ความเร็วในการเดินรถอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากบริหารจัดการให้ดีก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง ควรต้องทบทวนแผนการก่อสร้างอีกครั้งเพราะยังมีความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะความชัดเจนของการเลือกใช้เทคโนโลยี
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การพิจารณาใช้เทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะต้องผ่านการกลั่นกรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจเเละสังคมแห่งชาติ ซึ่งแต่ละโครงการจะต้องก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีที่ไทยจะนำมาใช้มีทั้งของจีนและญี่ปุ่นซึ่งมีมาตรฐานเดียวกัน จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อและการบำรุงรักษาในอนาคต