วันนี้ (1 ก.ค.2559) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยเกี่ยวกับการตรวจสอบกรณี พบนมกล่องโรงเรียนที่แจกเด็กนักเรียนไทย โผล่วางขายตามร้านค้าในประเทศกัมพูชา แม้ข้างกล่องนมมีข้อความชัดเจนว่าห้ามจำหน่าย
"ขณะนี้ สตง.รับทราบข้อมูลและพบว่า มีการขายนมโรงเรียนที่แจกเด็กไทยในประเทศกัมพูชา นับว่าน่าเป็นห่วงเพราะข้อความ 'ห้ามจำหน่าย' บนกล่องนม จะไม่มีความหมายเลย ทั้งๆ ที่ระบุไว้ชัดเจน"
"เรื่องนี้ต้องตรวจสอบผู้ผลิตที่ละเมิดข้อตกลงกับทางราชการ และจะดูว่ามีบุคลากรในภาครัฐเกี่ยวข้อง มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ และการทำโครงการแบบนี้รัฐต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าการใช้งบประมาณของแผ่นดินจัดทำโครงการนมโรงเรียนจะต้องส่งไปถึงปลายทางได้อย่างครบถ้วนและมีคุณภาพ" นายพิศิษฐ์กล่าว
ส่วนกรณีที่สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ผู้ผลิตนมโรงเรียน อ้างกว่าผลิตเกินโควต้าจำนวนเด็กนักเรียน เพราะถูกรัฐสั่งปรับลดโควต้านั้น ผู้ว่าการ สตง.ระบุว่า เป็นข้อกล่าวอ้างที่มีนัยยะในการตรวจสอบ เพราะหากเป็นจริงต้องมีมาตรการแก้ไขด้านบริหาร เพราะปล่อยให้เอกชนทำแล้วได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว แล้วปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอย่างนี้ทำไม่ได้
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า หากยังไม่พูดถึงมูลค่าความเสียหายที่มีข้อมูลว่าเอกชนเอานมแจกฟรีไปวางขายที่กัมพูชาแล้ว 1-2 ปี ซึ่งเป็นนมแบบเดียวกับที่รัฐบาลสั่งผลิต มองได้ว่าเป็นการยักยอกเอาของราชการไปจำหน่าย
นายพิศษฐ์ตั้งคำถมว่า จะมีหลักประกันได้อย่างไร ถ้ารัฐจ้างเอกชนผลิตของที่เหมือนกัน หน้าตาอย่างเดียวกัน แต่กลับเอาไปขายในนามประโยชน์ส่วนตน ซึ่งทางหนึ่งราชการเขียนว่า "ห้ามจำหน่าย" อาจเป็นการหลบเลี่ยงด้านภาษีหรือไม่ หรือเป็นการให้เอกชนนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางการค้า
ทั้งนี้ สตง.จะตรวจสอบเกี่ยวกับความเสียหาย และทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การทำสัญญา กระบวนการควบคุมการผลิต ขั้นตอนการตรวจรับ และความสอดคล้องด้านการผลิตของผู้ประกอบการกับสัญญาที่ทำกับรัฐ เนื่องจากสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นอ้างว่านำไปวางขายเพราะโดนรัฐลดโควต้า
สำหรับการใช้สัญลักษณ์ชื่อ "นมโรงเรียน" ไปวางขายนั้น วันนี้ (1 ก.ค.2559) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงว่าไม่พบการใช้ชื่อ "นมโรงเรียน" จดลิขสิทธิ์ จึงไม่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายในความรับผิดชอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลดโควต้ากำลังผลิตจากวันละ 92 ตัน เหลือ วันละ 88 ตัน แต่ไม่มีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง ส่วนการตรวจสอบสัญญาการแจกนมไปโรงเรียนต่างๆ นั้น กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารว่าพบความผิดปกติหรือไม่