บานหน้าต่างเป็นเฟรมภาพชั้นดีได้และยิ่งรถไฟฟ้าวิ่งไปไกลเท่าไหร่ ภาพบนเฟรมยิ่งหลากหลาย ต่างเรื่องราว แนวคิดของช่างภาพมือรางวัล "เจษฎา ลีลานุวัฒน์กุล" ที่สร้างผลงานภาพถ่ายแนวทดลองบนพาหนะคนเมือง ด้วยแนวคิดศิลปะสร้างได้ทุกที่ในชื่อโปรเจ็ค BTS Scape เกือบ 1 ปีที่เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์เป็นโดยสารรถไฟฟ้า มีเส้นทางประจำจากสถานีสะพานตากสินถึงราชเทวี เห็นความแตกต่างของย่านชานเมืองและย่านธุรกิจ แทบทุกภาพที่ยกกล้องขึ้นถ่ายมีทั้งภาพเบลอและสั่น ซึ่งศิลปินมองว่าทิวทัศน์เมืองที่ผ่านสายตาอย่างรวดเร็ว สะท้อนถึงชีวิตคนกรุงที่ล้วนเป็นชั่วโมงเร่งด่วน
"ตอนแรกไอเดีย คือ การหนีออกจากเมือง แต่ถ่ายไป ก็มีแต่เมือง เลยค่อยๆ ปลายเปิดไอเดียออกไป เราก็แค่อยู่กับมัน (ความวุ่นวายของเมือง) อยู่ให้เป็น อยู่ให้ดูสวยงามมากขึ้น"
ทำโปรเจกต์ BTS Scape ช่างภาพหนุ่มไม่ได้แบกกล้องเร่งรีบขึ้นรถไฟฟ้าไปตามฝูงชน แต่จะขึ้นเป็นคนสุดท้ายเพื่อให้ได้ทำเลดีที่สุด ตรงหน้าตรงริมประตู
เทคนิคถ่ายภาพแบบใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เป็นอีกส่วนสำคัญที่สร้างอารมณ์ภาพให้โลดแล่น หลายภาพถ่ายแทบกลายเป็นภาพเชิงนามธรรมเห็นเพียงสีสันและรูปร่าง อย่างภาพวิวสวนลุมพินีที่มีฉากหลังเป็นอาคารสูง ซึ่งต้องอาศัยจังหวะบันทึกภาพไม่กี่วินาทีระหว่างสถานีศาลาแดงและราชดำริ ซึ่งศิลปินพบว่านี่เป็นเพียงสองสถานีที่สามารถมองเห็นปอดของเมือง หนึ่งในผลงานสะท้อนสังคมจากมุมมองรถไฟฟ้า ว่าชีวิตในกรุงเทพเมืองใหญ่แทบไม่ได้ใกล้ชิดพื้นที่สีเขียว
"ออกไปไกลๆ ตึกจะเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่มองว่าเมืองไทยไม่ค่อยมีพื้นที่สีเขียว จริงๆ นั้นมี แต่ไม่ค่อยได้รับการดูแล เป็นหย่อมเล็กๆ ที่แทรกอยู่ระหว่างตึก เส้นทางที่ผมเดินทางจะผ่านสวนลุมฯ ภาพถ่ายจึงต้องการสะท้อนภาพพื้นที่สีเขียวที่อยู่ด้วยกันได้กับตึก ให้ออกมาดูสวยงาม" เจษฎา บอกถึงแนวคิด
ศิลปะจากสายตาเล่าคุณค่าระหว่างเดินทางเป็นผลงานชุดแรกหลังช่างภาพวัย 26 ปี จบปริญญาโทสายภาพถ่ายจากอังกฤษ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถร่วมตั้งคำถามถึงสังคมเมืองผ่านภาพถ่ายชุดนี้ได้ ในนิทรรศการ BTS Scape จัดแสดงถึง 28 สิงหาคม 2559 ที่พีเพิ้ลแกลเลอรี่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร