วันนี้ (22 ก.ย.2559) พ.ต.อ.มานะแถลงข่าวชี้แจงการทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตายของนายธวัชชัย อนุกูล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพังงา อายุ 66 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2559 ว่า จนถึงขณะนี้พยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า การตายของนายธวัชชัยเกิดจากถูกผู้อื่นทำให้ตาย
พ.ต.อ.มานะอธิบายว่า เนื่องจากการสอบสวนคดีนี้เป็นสำนวนการชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตาย (post-mortem examination) ไม่ใช่สำนวนคดีอาญา จึงจะไม่มีการตั้งข้อหา เช่น ฆาตกรรม หรือ ฆ่าคนตาย และการที่ตำรวจใช้คำว่า "ถูกผู้อื่นทำให้ตาย" แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการฆาตกรรม
"ภาษาที่ใช้อาจจะไม่คุ้นเคย แต่จากการรวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำบุคคล พยานทางนิติวิทยาศาสตร์ จนมาถึงขณะนี้มีพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนที่สามารถบ่งชี้ได้ว่า การตายของนายธวัชชัยเกิดจากถูกผู้อื่นทำให้ตาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 (2) ซึ่งเราจะไม่ใช้คำว่าถูกฆาตกรรมหรือกระทำโดยประมาท เพราะนั่นเป็นำสำนวนคดีอาญา" พ.ต.อ.มานะอธิบาย
"การที่ถูกผู้อื่นทำให้ตาย หากมีการดำเนินคดีอาญากันไป ก็อาจเป็นไปได้หลายสาเหตุ เช่น เจตนาหรือเรียกว่า ฆาตกรรม หรือการกระทำโดยประมาท" พ.ต.อ.มานะกล่าว "ขณะนี้พยานหลักฐานในสำนวนบ่งชี้ ทำให้เชื่อได้ว่านายธวัชชัยน่าจะถูกผู้อื่นทำให้ตาย ไม่ใช่การฆ่าตัวตายอย่างที่เราตั้งประเด็นมาในชั้นเริ่มต้น"
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่นายธวัชชัยถูกวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งมัดคอนั้นไม่ได้กระทำด้วยตัวเองใช่หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.อ.มานะปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ แต่ให้ข้อมูลว่า "ในรายงานความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจศพ รวมทั้งพนักงานสอบสวน พบร่องรอยลักษณะว่าผู้ตายไม่ได้กระทำด้วยตัวเอง ประมาณ 3-4 จุด"
ทั้งนี้การตายผิดธรรมชาติที่ตำรวจต้องทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพ มี 5 ประเภท คือ 1.ฆ่าตัวตาย 2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย 3.ถูกสัตว์ทำร้ายตาย 4.ตายโดยอุบัติเหตุ 5.ตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ เมื่อตำรวจสรุปสำนวนการชันสูตรพลิกศพหาสาเหตุการตายเสร็จแล้วก็จะส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวน ศาลจะมีคำสั่งไปในทำนองว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อใด พฤติการณ์แห่งการตายเป็นอย่างไร คือ ฆ่าตัวตาย หรือ ถูกผู้อื่นทำให้ตาย