วันนี้ (3ม.ค.2560) นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ยืนยันว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวที่พยายาม จะพิสูจน์ว่าจระเข้ที่เห็นเป็นของจริงหรือไม่ บ้างก็ใช้ไม้ใช้หินโยนเข้าใส่ หรือไม่ก็เลือกที่จะเข้าไปในระยะใกล้ๆ ดังนั้นการมีป้ายบอกเตือน บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวระมัดระวัง
ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงสำรวจในเส้นทางศึกษาธรรมชาติจากน้ำตกผากล้วยไม้ ไปยังน้ำตกเหวสุวัต ซึ่งมีระยะทาง 2 กิโลเมตร เส้นทางนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิด ทั้งตะกอง ชะนี ช้าง นากและจระเข้ วันนี้ป้ายเตือนหลายหลายภาษาถูกนำมาปักถี่ขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้พบกับจระเข้ 1 ใน 2 ตัวที่พบในเขตวังจระเข้ ที่อาศัยมานานกว่า 5 ปีแล้ว มันมีขนาดประมาณ 2 เมตร ลำตัวประมาณ 30-45 เซนติเมตร โดยพบว่าเส้นทางนี้ ยังพบนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาตามหาจระเข้หลังปรากฎข่าว
โดยพวกเขาต่างยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพจระเข้ ที่ขึ้นมาผึ่งแดด บนโขดหิน และกระโดดลงน้ำ เมื่อเริ่มมีนักท่องเที่ยวส่งเสียงดัง อย่างไรก็ตาม คงจะไม่ใช่ทุกครั้งที่จะได้เห็นจระเข้ ทำให้ทุกคนตื่นเต้น แต่นักท่องเที่ยวยอมรับว่า ถ้าเข้าไปใกลิ้ๆก้ไม่กล้า เพราะสัตว์ป่ามีความดุร้าย
กรณีที่เกิดขึ้น แม้จะมีการติดป้ายเตือนแล้ว แต่ในมุมของกลุ่มนักอนุรักษ์ อาจไม่ใช่ทางออก ณัฐวุฒิ รักษ์สกุล ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์เขาใหญ่ เปิดเผยว่า เคยทำแบบสอบถามว่านักท่องเที่ยวเนป้ายเตือนมากน้อยแค่ไหน มีเพียงแค่ 100 คน จาก 300 คน ที่ตอบว่าสังเกตเห็นป้ายเตือน ในทางกลับกันยังพบพฤติกรรมทำร้ายสัตว์ป่าทั้งที่มีป้ายเตือนเรื่องความปลอดภัย
การเกิดเหตุกับนักท่องเที่ยว 1 คน เป็นสิ่งที่ส่งผลกับเจ้าหน้าที่ทุกคน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้ และยอมรับว่าที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมักมีพฤติกรรมรบกวนสัตว์ป่า เพราะไม่เชื่อว่าเป็นสัตว์ของจริง แต่การให้เจ้าหน้าที่มาประจำจุด อาจจะกระทบกับงานด้านอื่น ทั้งงานวิชาการและด้านการอนุรักษ์ผืนป่าและสัตว์ป่า
การพบสัตว์นานาชนิด แสดงให้เห็นว่า ในป่าเขาใหญ่ยังมีความอุดมสมบูรณ์จนทำให้สัตว์ขยายพันธุ์ได้มาก การเปิดเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นภารกิจหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เมื่อยังไม่พบปัญหาจากพฤติกรรมของสัตว์ การปรับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจึงเป็นทางออก เพื่อให้การศึกษาธรรมชาติเป็นไปอย่างปลอดภัย ได้ความรู้