วันนี้ (13 ก.ย.2560) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและนิตยสารฉลาดซื้อ ร่วมกันแถลงผลการทดสอบสารกันบูดใน "เฉาก๊วย" หลังสุ่มตรวจเฉาก๊วย จำนวน 30 ตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากการสุ่มตรวจสารกันบูดในเฉาก๊วย จำนวน 30 ตัวอย่างในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีเฉาก๊วย 14 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบสารกันบูด ทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดนิยมใช้เป็นวัตถุกันเสียในอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉาก๊วย 14 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบสารกันบูด ได้แก่ เฉาก๊วยอาม่า, เฉาก๊วยละออ, เมจิกฟาร์ม ดีเซิ้ดทคัพ, แฮปปี้เฉาก๊วย (สั่งซื้อทางออนไลน์), หวานเย็น, ตลาดคลองเตย ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน, เฉาก๊วยเกาลูน, เฉาก๊วยยูเทิร์น (สั่งซื้อออนไลน์), เฉาก๊วยตราศรีลำทับ, เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม, น้ำเฉาก๊วยตรากรีนเมท, เฉาก๊วยชากังราว, เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม และเฉาก๊วยเต็งหนึ่ง
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุอีกว่า ในจำนวน 30 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจนั้น มี 16 ตัวอย่างที่พบว่ามีการใช้สารกันบูดและมีเพียง 6 ตัวอย่างที่พบสารกันบูดน้อยกว่า 1.5 - 1.75 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ได้แก่ ตลาดอมรพันธ์ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน, เฉาก๊วยตราจริงใจ แบบก้อนใหญ่, ตลาดบางกะปิ ไม่มียี่ห้อ ไม่มีชื่อร้าน, เฉาก๊วยเกาลูน บางกอกเกาลูน (แบบถุง), นายอุ๋ย เฉาก๊วยโบราณ, ตลาดบางกะปิ ไม่มียี่ห้อ ร้านข้าวเหนียวมูลแม่สุวิมล
ส่วนเฉาก๊วยที่ตรวจพบสารกันบูดเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดมี 1 ยี่ห้อคือ เฉาก๊วยอาโก ศูนย์การค้าบางประกอก ที่พบสารกันบูดเบนโซอิก 1,387.37 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งจากการตรวจสอบเฉาก๊วยทั้ง 30 ตัวอย่างในครั้งนี้ พบว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 29 ตัวอย่าง จึงถือเป็นข่าวดีของผู้ที่ชอบรับประทานเฉาก๊วย เนื่องจากมีความปลอดภัยเกือบ 100 เปอร์เซ็น
ขณะที่นายสมนึก งามละมัย กองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวถึงข้อสังเกตเพิ่มเติมจากการตรวจสอบในครั้งนี้ โดยพบว่าฉลากเฉาก๊วย 16 ตัวอย่างที่พบว่ามีการใช้สารกันบูด มีเพียงแค่ 4 ตัวอย่างเท่านั้นที่แจ้งข้อมูลบนฉลากว่ามีการใช้วัตถุกันเสีย ขณะเดียวกันมีเฉาก๊วย 4 ตัวอย่างที่ระบุว่า "ไม่ใช้วัตถุกันเสีย" บนฉลาก แต่จากการตรวจสอบพบว่ามีการปนเปื้อน แต่พบในปริมาณน้อย จึงอยากให้ผู้ผลิตอาหารและหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม เพื่อให้เกิดมาตรฐานและความปลอดภัยกับผู้บริโภค