วันนี้ (11 ม.ค.2561) น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ไลฟ์เฟชบุ๊กของส่วนประชาสัมพันธ์กรมอุทยานฯ โดยพูดถึงกรณีข่าวช้างป่าละอู อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี บุกพังร้านอาหารเสียหาย กินเส้นก๋วยเตี๋ยวไป 10 กิโลกรัมและน้ำตาลปี๊ปอีก 2 กิโลกรัม โดยตั้งคำถามว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่
น.สพ.ภัทรพล กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และสอบถามเจ้าของร้านยืนยันว่าช้างไม่ได้กินเส้นก๋วยเตี๋ยวไป 10 กิโล หรือน้ำตาลปี๊ป เพียงแค่รื้อและนำมาคาบไว้ที่ปาก และเหตุผลที่ช้างป่าเข้ามารื้อค้น สามารถอธิบายได้ว่า เพราะร้านอาหารตามสั่ง มักกลิ่นน้ำปลา ปลาร้า และเศษอาหาร จึงเป็นปัจจัยที่ดึงดูดให้ช้างป่า
พฤติกรรมของช้างที่เข้ามารื้อเศษอาหาร และคุ้ยเขี่ยวัตถุดิบ บ่งชี้ว่าสัตว์ป่าต้องการแร่ธาตุ ต้องการแหล่งดินโป่งเพราะความเค็มจากเกลือ จากน้ำปลาดึงดูดช้้าง ดังนั้นการจัดการเบื้องต้นคือต้องเร่งทำแหล่งดินโป่งให้กับช้างและสัตว์ป่าในพื้นที่กลางป่าลึก รวมทั้งต้องเข้มงวดและรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านนำพืชเกษตรกรรมมาทิ้งไว้ที่ถนน เพราะทำให้ช้างติดใจ
สัตวแพทย์กรมอุทยานฯ บอกอีกว่า นอกจากนี้ แนวทางสำคัญคือปัจจัยดึงดูดของช้างคือ ขยะ อาหาร และผลไม้ มีแนวคิดว่าอาจจะต้องระดมเจ้าหน้าที่ไปทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ในบ้านเรือนของชาวบ้านชุมชนต่างๆรอบพื้นที่ ดูว่าเขาเก็บวัตถุดิบ ประกอบอาหารไว้ไม่ดีอย่างไร ไปช่วยกันดูสุขอนามัย และความสะอาดของบ้านเรือน ถ้ากำจัดปัจจัยเหล่านี้ได้จะลดปัญหาทำมาช้างป่ารื้อค้น มาหาอาหารในบ้านของชาวบ้านได้
ชี้เลี้ยงอาหารช้าง ทำลายสุขภาพ
นอกจากนี้ น.สพ.ภัทรพล กล่าวถึงการรักษาพลายบุญช่วย ซึ่งจากการประเมินสุขภาพ พบมีโภชนาการที่ผิดเพี้ยน หลังจากงาหักทำให้ใช้วิธีการเดินหากินในพื้นที่ชุมชน มีชาวบ้านนำอาหาร เช่น กล้วย อ้อย สัปปะรดมาวางตามถนนให้ช้างป่า ซึ่งการเลี้ยงอาหารช้างป่า คือปฐมบทที่เกิดขึ้นกับสุขภาพช้างป่า
ถึงแม้ว่าความต้องการอาหารของช้างในแต่ละวันจะมากถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว แต่ในกรณีช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สภาพพื้นที่ป่าโดยรวมค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำแหล่งอาหารที่เพียงพอแก่ช้างป่า และสัตว์ป่าอื่นๆการนำพืชอาหาร อื่นๆมาเลี้ยงช้าง ที่ไม่ใช่พืชอาหารที่มีอยู่ในป่าธรรมชาติ จะทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของช้างป่าเปลี่ยนไปอย่างมาก
ช้างที่ได้กินพืชอาหารที่นำมาเลี้ยง เช่น กล้วย อ้อย สับปะรด จะทำให้ช้างป่าติดใจในรสชาติ ทำให้ลดการกินพืชอาหารในธรรมชาติ ลงมากินพืชไร่ชาวบ้าน หากกินกล้วย ซึ่งมีปริมาณของฟอสฟอรัสมากๆ ช้างก็ต้องการแคลเซียมมาก เพื่อรักษาสมดุลของ แคลเซียม-ฟอสฟอรัส ในร่างกาย ก็ต้องกินพืชอาหารชนิดอื่น หรือกินดินโป่งมากๆ เพื่อต้องการแคลเซียม หากร่างการช้างที่สมดุลแคลเซียม-ฟอสฟอรัส เสียไป จะทำให้ช้างป่าในทุกช่วงอายุมีปัญหาเรื่องกระดูก ฟัน และโครงสร้างต่างๆของร่างกายได้ บาดเจ็บและป่วยง่าย
อาหารหลักส่วนใหญ่ของช้างป่าจะเป็นพวก หญ้า ไผ่ พง เถ้าวัลย์ ไม้พุ่ม และไม้ยืนต้นต่างๆ ซึ่งมาความหลากหลายทางโภชนาการ และมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของช้างป่า เมื่อช้างป่าได้กินอาหารที่นำมาเลี้ยงบ่อยๆ ก็จะติดใจ กินพืชอาหารในป่าลดน้อยลง ส่งผลต่อระดับคุณค่าทางโภชนาการได้ ส่งผลต่อการสร้างระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย