วันนี้ (20 ก.พ.2561) พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แต่ปรับแก้เงินอุดหนุน จากเดิมที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินเป็นรายปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของงบประมาณส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เป็นรัฐบาลจัดสรรให้เป็นรายปีตามแผนการใช้เงิน ที่คณะกรรมการและ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้ว และยังคงจัดสรรทุนประเดิมกองทุนฯ จำนวน 1 พันล้านบาท รวมถึงคงเงินรายปี ที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงเงินและทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ ซึ่งการปรับแก้เพื่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ
ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา หรือ กอปศ. ยืนยันถึงหลักการที่กำหนดให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเป็นรายปี ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ในระยะเวลา 5 ปีแรก ไว้ในร่างกฎหมาย เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่กระทบต่อเงินอุดหนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ดังนั้น จึงมีทางออก 2 ทาง คือ การเขียนแนบท้ายความจำเป็นของงบประมาณร้อยละ 5 และแปรญัตติในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
“ที่เขาขอแก้ กลายเป็นว่า ให้ไปกำกับทีหลัง โดยกรอบความจำเป็น เพราะฉะนั้นเราก็ไปตั้งกรอบความจำเป็น ทีนี้กรอบความจำเป็นจะพิจารณากันลำบาก ถ้าพิจารณาแล้ว เขาบอกไม่จำเป็น เขาก็ไม่ให้เงิน ที่เราเสนอไปเดิมก็เพื่อให้กำกับเลยว่า ณ จุดนี้เรารู้แล้วว่าจำเป็นแค่นี้” ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส กล่าว
ร่างกฎหมายกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีสาระสำคัญคือการกำหนดให้มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาขึ้น โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเสริมสร้างพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู