นี่ไม่ใช่การประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เพื่อหารือลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้การประชุมระหว่างสุดยอด 2 ผู้นำเกาหลีเปิดฉากขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2543 โลกได้เห็นนายคิม จองอิล บิดาของผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน ได้ยืนรอต้อนรับนายคิม แดจุง ผู้นำเกาหลีใต้ ด้วยบรรยากาศฉันมิตร ท่ามกลางประชาชนนับแสนคนที่รอชมภาพประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น
การเดินทางเยือนเกาหลีเหนือในครั้งนั้น เป็นก้าวสำคัญของนโยบายนโยบายตะวันฉาย (Sunshine policy) เพื่อหวังทลายกำแพงความบาดหมางของ 2 เกาหลีให้หมดไป ทำให้นายคิม แดจุง คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีเดียวกัน
แต่แล้วเส้นทางสันติภาพก็มีอันต้องสั่นคลอน เมื่อมีการเปิดโปงว่า เกาหลีใต้ได้มอบเงินจำนวน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 15,000 ล้านบาท ให้เกาหลีเหนือ ผ่าน บ.ฮุนได ที่เข้าไปลงทุนในเกาหลีเหนือในขณะนั้น เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ ใช้เงินจำนวนมหาศาลมาเป็นหลักประกัน เพื่อไม่ให้เกาหลีเหนือก่อปัญหา และหวังว่าการดำเนินการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ในครั้งแรกเป็นไปอย่างราบรื่น
เวลาล่วงเลยมากว่า 18 ปี นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกสิ้นสุดลง ขณะที่ทั้ง 2 ประเทศถูกจับตามองในการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 3 ที่หมู่บ้านพันมุนจอม เขตปลอดทหารบริเวณพรมแดน 2 เกาหลี ภายใต้แนวคิดหลัก "การต้อนรับ ความเห็นอกเห็นใจ สันติภาพ ความหวัง"
ปฏิเสธไม่ได้ถึงความหวังของนานาชาติ ถึงผู้นำเกาหลีใต้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานในการเจรจากับเกาหลีเหนือครั้งที่ 2 เมื่อปี 2550
ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า เป้าหมายการเจรจาในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่การให้เกาหลีเหนือยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ การลดจำนวนทหารในพื้นที่พรมแดนเขตปลอดทหารของ 2 เกาหลี (DMC ) ซึ่งจะลดความหวาดระแวงและการเผชิญหน้า และนำไปสู่การปรับบรรยากาศและยกระดับการท่องเที่ยว แน่นอนว่าจะเป็นพื้นที่หลักในการดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและสร้างรายได้ให้กับทั้ง 2 ประเทศ
การรวมชาติของทั้ง 2 ประเทศ ได้รับความสนใจจากนานาประเทศ ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้ยากเนื่องจากลักษณะสังคมของทั้ง 2 ประเทศ ค่อนข้างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังปี 2000 จนถึงปี 2018 มีทหารเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์มายังเกาหลีใต้ ทั้งหมด 9 คน ไม่นับประชาชนทั่วไป ทุกคนบอกว่าตัดสินใจผิดเพราะทุกคนไม่สามารถปรับตัวในการใช้ชีวิต ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแบบเกาหลีใต้ได้เลยเพราะการที่เคยถูกหล่อเลี้ยงมาด้วยระบบสวัสดิการของรัฐ ความสะดวกสบายไม่มีในเกาหลีใต้
การเอาตัวรอดในตัวเองทำให้ทหารในเกาหลีเหนือต้องไปเป็นบอดี้การ์ดในไนต์คลับ หรือประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิต หรือติดยาเสพติด ซึ่งหลายคนมีความกังวลว่าคนที่แปรพักตร์ที่อยู่ในวัยกลางคนขึ้นไปแล้วไปอยู่ที่เกาหลีใต้ไม่สามารถปรับตัวได้ คนที่ปรับตัวได้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่ยังเรียนรู้ได้ ขณะที่ผู้ที่อายุ 30-40 ปีขึ้นไปไม่สามารถปรับตัวได้เลย ฉะนั้นการที่จะนำไปสู่การรวมชาติจึงเป็นเรื่องยากมาก แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือ การทำให้เกาหลีเหนือปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
สถานที่ในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน พ.ค.หรือ ต้นเดือน มิ.ย.นี้ ทั่วโลกเปิดเผยรายชื่อเมืองที่มีแนวโน้มเป็นสถานที่จัดการประชุมซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
การใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ คาดว่าน่าจะเป็นไปได้น้อยมาก หน่วยงานทั่วโลกทราบดีว่าไทยเป็นพื้นที่สุดท้าย ที่เป็นช่องทางในการหลบหนีของชาวเกาหลีเหนือก่อนที่จะส่งตัวไปยังสถานทูตเกาหลีใต้ที่กรุงเทพ เพื่อส่งต่อไปยังเกาหลีใต้ ซึ่งตัวเลือกในการใช้สถานที่ต่างๆ ก็เป็นการแสดงความปรารถนาดีเพราะอยากมีส่วนร่วม แต่ทำธรรมเนียมของผู้นำเกาหลีเหนือยากมากที่จะเดินทางออกจากประเทศไปไกล
ผลการประชุมสุดยอดผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 3 ในครั้งนี้ เป็นตัวกำหนดอนาคตสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลี และยุติประเทศคู่สงครามในทางเทคนิค หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดในปี 2496