ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กาแฟจะขาดแคลนหรือไม่? เมื่อคนดื่มเยอะ แต่เมล็ดกาแฟน้อย

เศรษฐกิจ
30 เม.ย. 61
14:10
3,606
Logo Thai PBS
กาแฟจะขาดแคลนหรือไม่? เมื่อคนดื่มเยอะ แต่เมล็ดกาแฟน้อย
การบริโภคกาแฟเติบโตเร็วทั่วโลก รวมถึงคนไทยที่คาดการณ์ว่าจะบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น 3 เท่าในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ปริมาณเมล็ดกาแฟกลับผลิตได้ไม่ทันตามความต้องการ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่กาแฟจะขาดแคลนในอนาคต

ที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตกาแฟรวมทั่วโลกจะสูงกว่าการบริโภคมาโดยตลอด จนกระทั่ง 3 ปีก่อน เป็นครั้งแรกที่การบริโภคกาแฟสูงกว่าปริมาณที่ผลิตได้ เพราะการบริโภคขยายตัวในอัตราที่สูงกว่า ถูกทำการตลาดเป็นเรื่องแบรนด์ รสนิยม และไม่ถูกจำกัดด้วยพรมแดน

ธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เรื่องการปลูกไปจนถึงคนดื่ม เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรของโลก และทั่วโลกดื่มกาแฟมากกว่า 25,000 ล้านแก้วต่อปี เฉพาะอเมริกาประเทศเดียว มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจกาแฟกว่า 1.5 ล้านล้านบาทต่อปี เกือบเท่างบประมาณทั้งปีของบางประเทศ

ขณะที่กาแฟในไทยส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ เพราะไทยเปลี่ยนจากประเทศผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟ เป็นผู้นำเข้ามาหลายปีแล้ว จากผลผลิตน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลือประมาณ 20,000 ตันเท่านั้น ซึ่งบางคนดื่มกาแฟ บางคนไม่ดื่ม แต่เฉลี่ยแล้วคนไทยบริโภคกาแฟปีละครึ่งถึง 1 กิโลกรัม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

มีการประเมินอีกประมาณ 5 ปีจะมีการบริโภคกาแฟมากขึ้น 3 เท่าตัว หรือกว่า 300,000 ตันต่อปี ขณะที่ผลผลิตกับการบริโภคส่วนทางกัน ซึ่งผลิตได้แค่ 20,000 ตัน แต่บริโภคเกือบ 90,000 ตัน โดยสาเหตุที่มีการบริโภคมาก แต่ผลิตน้อย ส่วนหนึ่งเพราะการผลิตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เป็นเพราะต้นทุนการผลิตเมล็ดกาแฟสูงขึ้น

วารี สดประเสริฐ นายกสมาคมกาแฟไทย ระบุว่า เมล็ดกาแฟดิบมีน้อยลงทุกปี เพราะว่าขาดแรงงานที่จะปลูก และเกษตรกรที่เหลือมักจะหมุนไปตามราคาของสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกาแฟเป็นพื้ชที่ต้องใช้แรงงาน ใช้ใจและความละเอียดในการปลูก

 

ทางออกคือการนำเข้ากาแฟคั่วและนำเข้าในปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนำเข้ามาจากลาวมากที่สุด รองลงมาคือมาเลเซีย และยังมีสหรัฐฯ อิตาลี ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศที่มีอุตสาหกรรมกาแฟคั่วมานาน ขณะที่ไทยผลิตเองได้ยาก จากที่เคยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟ จึงเปลี่ยนเป็นประเทศผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ทั้งใช้ในประเทศและส่งออกแทน

สำหรับไทย เป็นตลาดบริโภคกาแฟใหญ่ที่สุดในอาเซียนและยังเป็นศูนย์กลางการค้า สามารถเลือกได้ว่าอยากนำเข้าจากประเทศไหน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม ขณะที่เวียดนามเป็นผู้ปลูกโรบัสต้า อันดับ 1 ของโลก ไทยจึงหันมาเน้นกาแฟคุณภาพแทนและมีโรงงานที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาการผลิตให้อยู่ในระดับสากลได้

เราคิดว่าเราต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของการค้าที่มันเปลี่ยน ตอนนี้คงจะเน้นการเพิ่มมูลค่ามากกว่าที่จะไปส่งเมล็ดดิบเหมือนสมัยก่อน เราจึงนำเข้าเมล็ดดิบจากเพื่อนบ้านเข้ามาและก็แปรรูปเพิ่มมูลค่า เพื่อการค้าและการส่งออก นายกสมาคมกาแฟไทยกล่าว

อุปสรรคอย่างหนึ่งของการผลิตกาแฟในไทยคือการนำเข้า ซึ่งอัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นแล้ว ไทยอยู่ในอัตราสูง เพราะฉะนั้นจึงทำให้ต้นทุนยังเป็นปัญหา นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือแบรนด์กาแฟระดับโลกและแบรนด์คู่แข่งระดับประเทศที่เข้ามาเปิดตลาดในไทย ซึ่งแบรนด์ข้ามประเทศเหล่านี้มีข้อได้เปรียบ ทำให้แบรนด์ไทยอยู่ในภาวะการแข่งขันในประเทศที่รุนแรง ขณะที่แบรนด์ไทยหลายแบรนด์ได้ขยายไปในภูมิภาค แต่ก็ยังต้องช่วยส่งเสริมกันอีกมาก

แล้วกาแฟจะขาดแคลนหรือไม่ในอนาคต? คำถามนี้อาจจะยังตอบไม่ได้ แต่แนวโน้มการผลิตน้อยกว่าการบริโภค แต่หากมีเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้นก็อาจจะไม่ประสบกับปัญหานี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง