วันนี้ (12 มิ.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อะไหล่จำนวนมากที่เตรียมไว้เพื่อสับเปลี่ยนได้ทันที หากรถไฟฟ้าขัดข้อง เป็นวิธีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้ เพื่อประหยัดเวลาในการซ่อมบำรุงจากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึงสัปดาห์ เหลือเพียง 2 วัน ปัจจุบันบีทีเอสให้บริการเฉลี่ยวันละ 20 ชั่วโมง มีรถไฟฟ้าวิ่ง 52 ขบวน รองรับผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 800,000 เที่ยว
ผู้บริหารรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า ระหว่างวัน รถทุกขบวนจะต้องผ่านการตรวจเช็คทุกครั้งที่เข้ามาจอด และก่อนออกให้บริการ โดยทุกคืนจะมีการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าทั้งระบบ ตั้งแต่ตัวรถราง สถานี โรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงศูนย์ควบคุมการเดินรถ แต่หากเทียบสถิติที่ผ่านมาในช่วง 3 เดือนของปีนี้ บีทีเอสขัดข้องแล้ว 7 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดจากระบบอาณัติสัญญาณ และในช่วงเช้าที่ผ่านมา เกิดเหตุขัดข้องที่สถานีอ่อนนุช ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน
ผู้บริหารบีทีเอส ระบุว่า หากยึดเคพีไอที่วัดจากจำนวนผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของการเดินรถตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป บีทีเอสตรงต่อเวลาร้อยละ 99.5 แต่ยอมรับว่าช่วงนี้การให้บริการอาจขัดข้อง เนื่องจากต้องปรับปรุงระบบให้พร้อมการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ในปลายปีนี้
ขณะที่ผู้โดยสารเห็นว่า บีทีเอสมักขัดข้องในชั่วโมงเร่งด่วน แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือก เพราะว่าเป็นระบบการเดินทางที่สะดวกที่สุด จึงต้องการให้เร่งปรับปรุงการแจ้งเตือนให้รวดเร็ว รวมถึงจัดระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ มารองรับทันที หากเกิดเหตุขัดข้อง
แม้ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมจะพยายามแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการลงนามความร่วมมือแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยกรณีเกิดเหตุข้อข้อง ตั้งแต่ปี 2559 พร้อมตั้งเป้าหมายไว้ว่าการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นจะต้องแล้วเสร็จภายใน 6 นาที และขนถ่ายผู้โดยสารภายใน 1 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง เมื่อระบบขนส่งสาธารณะประเภทรางขัดข้อง การแก้ไขปัญหากลับไม่ทันใจของประชาชนและส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ