กรมการศาสนา เผยแพร่ความรู้พิธีกรรมและประเพณีที่สำคัญภาคเหนือ โดยให้ข้อมูลประเพณีการบวชไว้ว่า สมัยโบราณวัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาทุกแขนง ผู้ที่มีลูกชายจึงใฝ่ฝันที่จะให้ลูกได้เข้าไปอยู่ในวัด เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ยิ่งถ้าได้บวชในพุทธศาสนา ผู้เป็นพ่อแม่ยิ่งเป็นสุข
เมื่อลูกชายอายุได้ 7-8 ขวบ พ่อแม่จะเสียสละแรงงานที่จะได้จากลูก โดยการนำไปฝากเรียนหนังสือที่วัด เรียกว่าไปเรียนเป็นขะยม ในช่วงที่ลูกไปอยู่วัดพ่อแม่จะเก็บเงินเตรียมการไว้ เมื่อลูกมีอายุได้ 11-12 ปี จึงจัดงานบวชลูกเป็นสามเณร เรียกว่า “ปอยน้อย” หรือ “งานบวช ลูกแก้ว” ต่อมาเมื่อสามเณรมีอายุครบ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
บวชเณร การบวชเรียนตั้งแต่เด็ก จัดงานบวชใหญ่โตเรียกว่า “ปอยน้อย” ถือว่าลูกหลานที่จะบวชเณรเป็นลูกผู้ประเสริฐ จึงเรียกกันว่า “ลูกแก้ว” การได้เป็นเจ้าภาพบวชเณร ถือกันว่าได้บุญมากก่อนจะมีการบวชเด็กให้เป็นสามเณร ต้องเริ่มจากการให้เด็กไปอยู่ในวัด เรียกว่า “ขะยม”
ขั้นตอนพิธีกรรมการบวช
เมื่อเป็นขะยมได้หลายปี เด็กสามารถสูดเรียน (สวด) อ่านเขียนหนังสือได้แล้ว เจ้าอาวาสจะแจ้งให้พ่อแม่รู้ว่าเด็กควรจะบวชเณรได้ พ่อแม่จะดีใจ และเข้าไปปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาส พร้อมกับตกลงกับพ่อแม่ของเด็กคนอื่น ๆ แล้วเจ้าอาวาสและผู้เฒ่าผู้แก่จะเปิดตำราหาฤกษ์หาวัน วันที่ห้ามบวชเณร บวชพระ บวชชีบวชผ้าขาว การบวชทุกอย่าง
บอกบุญแก่ญาติพี่น้อง
ใกล้ถึงวันบวช พ่อแม่หรือญาติจะไปบอกบุญกับญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านต่างตำบลหรือแม้แต่ต่างอำเภอ ของที่นำไปในการบอกบุญนั้นมีขัน คือ พานใส่ดอกไม้ธูปเทียน และผ้าสบง หรือผ้าจีวรวางบนพานแล้วอุ้มไป จึงเรียกการไปบอกญาติอย่างนี้ว่า “ไปผ้าอุ้ม” คือการอุ้มผ้าเหลืองไปบอกเกี่ยวกับการบวชลูกบวชหลาน พร้อมทั้งบอกวัน เวลา และสถานที่ที่จะบวช
การเตรียมงาน
ก่อนวันบวช 2 วัน เด็กที่บวชจะโกนผม พ่อแม่ ญาติพี่น้องจะช่วยกันอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณ ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาด ส่วนชาวบ้านเดียวกันจะมาช่วยกันจัดเตรียมทุกอย่างจัดของถวาย ตั้งเตียงเณรใหม่ ผูกต้นคาเพื่อทำเป็นที่ปักธนบัตร เรียกว่า “ต้นเงิน” เตรียมเรื่องอาหารหวานคาวสำหรับถวายพระสงฆ์และญาติมิตรที่มาร่วมงาน
วันดา
ก่อนวันบวช 1 วัน เรียกวันดา เป็นวันเตรียมแต่งดาเครื่องไทยทานและอาหารหวานคาวที่จะถวายพระสงฆ์ในวันรุ่งขึ้น รวมทั้งจัดสถานที่สำหรับการบวช และถ้าจะมีการซอให้ตั้งผามไว้ด้วยเพื่อความครึกครื้น จึงเรียกกันว่า วันดา
ไปเอาลูกแก้ว
พวกหนุ่มสาวจะนำฆ้องกลอง บางแห่งมีแตรด้วย พร้อมกับพาเด็กขะยมที่โกนผมไว้ตั้งแต่วันก่อนไปยังวัดที่อยู่ห่างออกไป โดยจะเลือกวัดที่ชื่อเป็นมงคล เมื่อไปถึงวัดแล้ว จะแต่งตัวเหมือนเป็นกษัตริย์ มีการแต่งหน้า แต่งตัว เขียนคิ้วเขียนตา ทาปากแดง ชโลมด้วยเครื่องไล้ลา ทาด้วยของหอมทั้งหลาย ประดับด้วย กำไล แหวน สร้อยสังวาล แต่งให้เหมือนเทวดา หรือแต่งเป็นดังกษัตริย์สวมมงกุฎ
ต่อมาเมื่อล้านนาอยู่ใต้การปกครองของพม่าประมาณ 200 ปีตั้งแต่ พ.ศ. 2101 วัฒนธรรมการแต่งตัวลูกแก้ว จึงเอาแบบอย่างพม่า คือ นุ่งโสร่งผ้าต้อย สวมเสื้อแพร โพกหัวด้วยผ้าสีต่าง ๆ แบบกษัตริย์พม่า จึงเรียกกันว่าแต่งตัวแบบพม่า เมื่อแต่งตัวให้เด็กขะยมเสร็จแล้ว จะเรียกกันว่าลูกแก้วทันที
เมื่อเป็นลูกแก้วแล้วจะได้รับการทะนุถนอมมาก แม้แต่ดินก็ไม่ให้เหยียบไปทางไหนจะมีคนอุ้มตลอด จากนั้นลูกแก้วตามด้วยคนยกสำรับกับข้าวที่เตรียมมาจะขึ้นไปกราบเจ้าอาวาสวัดนั้น หลังจากนั้นกราบขอพร เจ้าอาวาสจะให้พรและให้เงินแก่ลูกแก้วใหม่กลับไปที่บ้านเจ้าภาพ ในระหว่างทางที่แห่ลูกแก้วมา จะมีเด็กและผู้ใหญ่คอยดูขบวนแห่กันตามประตูบ้านตลอดทาง เมื่อขบวนแห่มาถึงบ้าน ลูกแก้วจะถูกอุ้มลงจากหลังม้า พอมาถึงตรงเชิงบันไดบ้านจะมีคนคอยตักน้ำล้างเท้าให้ลูกแก้ว แล้วจึงอุ้มขึ้นไปพักผ่อนบนเรือน
การแห่ลูกแก้ว
เมื่อเลี้ยงข้าวกลางวันกันเรียบร้อยแล้ว เวลาประมาณ 13.00 น. ลูกแก้วจะได้แต่งหน้าแต่งตาอีกครั้งหนึ่ง แล้วอุ้มขึ้นหลังม้า พวกหนุ่มสาวตั้งขบวนก็จะแห่ลูกแก้วไปแอ่ว คือไปขอพรญาติผู้ใหญ่
การฮ้องขวัญลูกแก้ว
การฮ้องขวัญลูกแก้ว เจ้าภาพจะไปเชิญ “ปู่อาจารย์” หรือปู่จารย์ที่มีความรู้ในการทำพิธี และเป็นผู้มีเสียงไพเราะมาเป็นผู้เรียกขวัญหรือ “ฮ้องขวัญลูกแก้ว”
โดยมีขั้นตอนพิธีฮ้องขวัญ ดังนี้
การปัดเคราะห์ คือ ไล่เสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายออกจากตัวพระลูกแก้ว
การเล่ากำเนิด คือ การเล่าเรื่องราวหรือประวัติลูกแก้ว นับตั้งแต่เกิดมาจนถึง
ปัจจุบัน
การฮ้องขวัญ ตามความเชื่อว่าทุกคนมีขวัญอยู่ 32 ขวัญ กระจายอยู่ทั่วร่างกาย คราใดคนเราได้รับความกระทบกระเทือน สะดุ้งหวาดผวา ขวัญจะหนีออกจากร่าง เรียกว่า ขวัญหนี ขวัญล่า ขวัญหาย ต้องเรียกให้มาอยู่กับตัว เพื่อจะได้มีความสุขสวัสดี
การบวช
พิธีบวชจะเริ่มกันตั้งแต่ตี 5 พระสงฆ์ที่นิมนต์ไว้จะมาพร้อมกันในวิหาร คนที่มาร่วมพิธีนอกจาก พ่อแม่แล้วญาติพี่น้องเท่านั้น พระสงฆ์ใช้เวลาในการบวชอย่างมากประมาณ 1 ชั่วโมง บวชเสร็จก็เป็นเวลารุ่งอรุณ เมื่อถึงเวลาอาหารเช้าก็จัดอาหารถวายแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นอันเสร็จพิธีบวชแต่เพียงนี้
สามเณรที่บวชใหม่จะต้องอยู่กรรม คือบำเพ็ญ ศีลภาวนาในวิหารเป็นเวลา 3 วัน 7 วัน ก่อนนอนทุกคืนเณรใหม่จะนั่งภาวนานับประคำ 108 จบ แล้วอุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว และอุทิศบุญอันเกิดจากการบวชให้กับพ่อแม่ตน
การบวชในสมัยโบราณมีวัตถุประสงค์เพื่อการประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ต่อมาการบวชถือเป็นเพียงประเพณีไป แต่ก็มีข้อดีกับสังคมอยู่ที่เด็กจะได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดี เมื่อพ่อแม่มีลูกเป็นพระภิกษุ เป็นสามเณร การจะทำสิ่งที่เป็นบาปเป็นกรรมก็เกิดความละอายต่อชาวบ้านที่จะต่อว่าว่าเป็นแม่พระแม่ตุ๊แล้วยังทำบาปอีก
ทั้งนี้ พระประยุติเจติยานุการ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยเวา กล่าวว่า การบวชของทีมหมูป่าอะคาเดมี 12 คน ในวันที่ 25 ก.ค.2561 จะเน้นพิธีกรรมเรียบง่าย สงบ งดการละเล่น มีการจัดขบวนแห่พร้อมเครื่องสักการะแบบล้านนา แต่จะไม่มีการแต่งหน้า แต่งตัว เหมือนการบวชแบบที่ผ่านมา