ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แบคทีเรียต้นตอ "เนื้อเน่า" ก่อนเข้ากระแสเลือดถึงตาย

สังคม
20 ส.ค. 61
13:26
16,612
Logo Thai PBS
แบคทีเรียต้นตอ "เนื้อเน่า" ก่อนเข้ากระแสเลือดถึงตาย
แพทย์เผยโรคเนื้อเน่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เริ่มแรกจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดและเข้าไปทำลายอวัยวะภายในจนการทำงานผิดปกติ ส่วนการรักษาต้องทำด้วยการผ่าตัดและนำเนื้อตายออก

วันนี้ (20 ส.ค.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของเว็บไซต์พบแพทย์ ระบุว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) เป็นภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน ที่อาจส่งผลให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อถูกทำลายได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนบริเวณผิวหนัง ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลซึ่งจะรู้สึกปวดมากขึ้น โดยการติดเชื้ออาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เป็นต้น แม้โรคนี้จะพบได้น้อย แต่อาจทำให้ป่วยรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยจึงต้องไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที

ส่วนอาการของโรคนี้ คือระยะแรกหลังการติดเชื้อภายใน 1 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง ดังนี้ 1.ผิวหนังบริเวณรอบๆ บาดแผลร้อนหรือมีสีแดง, 2.รู้สึกปวดบาดแผลมากผิดปกติ, 3.บริเวณที่เกิดการติดเชื้อเกิดการเปลี่ยนสี หรือมีของเหลวซึมออกมา, 4.มีตุ่มแดงเล็กๆ ถุงน้ำ จุดดำ หรือความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้นบนผิวหนังร่วมกับเกิดความเจ็บปวดบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาการบนผิวหนังมักกระจายออกไปและทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากแบบไม่สัมพันธ์กับแผล 5.ตึงบริเวณกล้ามเนื้อ, 6.มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เป็นต้น และ 7.มีภาวะขาดน้ำ โดยมีอาการ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย เป็นต้น

หลังจากนั้น เมื่อติดเชื้อไปแล้ว 3-4 วัน ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น บริเวณที่เกิดการติดเชื้ออาจมีอาการบวม มีผื่นสีม่วงขึ้น หรือมีตุ่มน้ำสีเข้มที่ส่งกลิ่นเหม็น ผิวหนังอาจเกิดการเปลี่ยนสี และเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอาจหลุดลอกออก เป็นต้น และเมื่อการติดเชื้อเข้าสู่วันที่ 4-5 ผู้ป่วยอาจมีภาวะวิกฤติ ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ ช็อก หรือหมดสติได้

เว็บไซต์พบแพทย์ ระบุว่าสาเหตุของโรคเนื้อเน่าว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อคคัส กลุ่มเอ, คลอสตริเดียม, เคล็บเซลลา, สแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส, อีโคไล และแอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา เป็นต้น ซึ่งเชื้ออาจปล่อยสารพิษทำลายเนื้อเยื่อผิวหนังและกล้ามเนื้อจนส่งผลให้เนื้อเยื่อตายได้ โดยเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนังหรือกระแสเลือดผ่านทางแผลถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด

โดยผู้ที่เสี่ยงต่อโรคนี้ ได้แก่ 1.ผู้ที่ติดแอลกอฮอล์หรือฉีดสารเสพติด, 2.ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์, 3.ผู้ป่วยโรคผิวหนัง, 4.ผู้ป่วยโรคหัวใจหรือโรคปอดเรื้อรัง และ 5.ผู้ป่วยเบาหวานหรือมะเร็ง

ด้าน นพ.ไพฑูรย์ ใบประเสริฐ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคเนื้อเน่าในพื้นที่ จ.หนองบัวลำภู พบผู้ป่วยในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เป็นคนหนุ่มคนสาว เนื่องจากพออายุมากขึ้น ภูมิต้านทานก็ลดลง นอกจากนี้ โรคเบาหวานและโรคเอสซีดี ยังทำให้ภูมิต้านทานลดลงด้วย ซึ่งพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตจะมีโรคเบาหวานร่วมด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือการใช้ยาพวกสเตียรอยด์ในพื้นที่

ทั้งนี้ จากงานวิจัยที่ทำมาเมื่อปี 2555 อันดับ 1 ของโรคร่วม คือเบาหวาน อันดับ 2 คือการใช้สเตียรอยด์ ซึ่งสเตียรอยด์อาจมาในรูปของยาสเตียรอยด์ และยากษัยเส้น หรือยาที่อวดอ้างสรรพคุณว่าบำรุงร่างกายชนิดต่างๆ ซึ่งหลังจากได้รับสเตียรอยด์ในช่วงแรกจะพบว่าอาการดีขึ้น สบายขึ้น แต่ถ้าในระยะยาวจะมีอันตราย ทำให้ลดภูมิต้านทานและอาการรุนแรงขึ้น ส่วนสารเคมี เพียงแต่เป็นการตั้งสมมติฐาน ยังไม่เคยวิจัยจริงจังว่าเป็นสาเหตุของโรคนี้หรือไม่

นพ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ เนื่องจากติดเชื้อในกระแสเลือด สาเหตุมาจากเชื้อที่อยู่ใต้ผิวหนังและอยู่ติดกับกล้ามเนื้อ ได้ซึมเข้ากระแสเลือด ซึ่งการรักษาจะทำด้วยการผ่าตัดและนำเนื้อตายออก และต้องรักษาให้ทันเวลา ถ้ามาช้า และรักษาช้า เชื้อเข้ากระแสเลือดแล้ว และเข้าไปทำลายอวัยวะภายในแล้ว ได้แก่ ตับ ไต ปอด หัวใจ สมอง จนกระทั่งการทำงานของอวัยวะผิดปกติ ส่วนใหญ่จะไม่รอด เพราะมีภาวะช็อกแล้ว

สำหรับปัญหาของโรคนี้ คือเริ่มต้นอาการจะไม่ชัดเจน เนื่องจากเป็นโรคที่อยู่ในชั้นใต้ผิวหนังค่อนข้างลึก อยู่ติดกล้ามเนื้อ ดังนั้น เริ่มแรกจึงมีอาการปวดบวมแดงร้อนนิดหน่อย ซึ่งประชาชนอาจคิดว่าไม่เป็นอะไร แม้แต่แพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขที่ไม่ชำนาญ อาจจะมองไม่ออก ทำให้การรักษาช้า

 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

คนป่วย "เนื้อเน่า" พุ่ง สารเคมีปัจจัยเสี่ยง?

เกษตรกรใน จ.หนองบัวลำภู กว่า 120 คน ป่วยเป็นโรคเนื้อเน่า

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง