ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สทนช.เตือน 3 จังหวัดภาคกลาง หลัง 2 เขื่อนใหญ่ปล่อยน้ำเพิ่ม

ภัยพิบัติ
7 ก.ย. 61
11:07
3,183
Logo Thai PBS
 สทนช.เตือน 3 จังหวัดภาคกลาง หลัง 2 เขื่อนใหญ่ปล่อยน้ำเพิ่ม
สทนช.เตือนพื้นที่ท้ายน้ำเฝ้าระวังน้ำท่วม หลัง 2 เขื่อนใหญ่เตรียมปล่อยน้ำเพิ่ม ขณะที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและนครนายก อาจได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่จะตกลงในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้

วันนี้ (7 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ประชุมติดตามการคาดการณ์ปริมาณฝนเดือน ก.ย.และ ต.ค. เพื่อวางแผนระบายน้ำของแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ กลางและเล็กให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าช่วงกลางเดือน ก.ย.-ต.ค.จะมีฝนตกชุกในพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่ภาคเหนือฝนจะเริ่มลดลง

นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการระบายน้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ เนื่องจากมีน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมระดับ 90% โดยเขื่อนศรีนครินทร์มระบายน้ำเพิ่มเป็นวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. จาก 23 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน โดยขยับเป็นขั้นบันได ขณะที่ เขื่อนวชิราลงกรณ ระบายน้ำเพิ่มเป็น 58 ล้าน ลบ.ม.จากปัจจุบันระบายน้ำอยู่ที่ 53 ล้าน ลบ.ม. โดยจะค่อยๆปรับระดับเช่นกัน ทั้งนี้ ให้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 3 จังหวัด คือ จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี และ จ.สมุทรสงคราม เพื่อป้องกันพื้นที่ท้ายน้ำ เนื่องจากบางพื้นที่เป็นคอขวด เช่น บริเวณไทรโยค

 

 

ปริมาณน้ำ 2 เขื่อน ยังเกินเก็บกัก

ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่วันนี้ ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 54,146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 76 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มี 3,112 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 รับน้ำได้อีก 18,882 ล้าน ลบ. ม.

ขณะที่อ่างเก็บน้ำที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง เขื่อนน้ำอูน (106% เท่าเดิม) เขื่อนแก่งกระจาน (105% เท่าเดิม) 

ขนาดกลาง 15 แห่ง (เท่าเดิม) ซึ่งอยู่ใน ภาคเหนือ 1 แห่ง (เท่าเดิม) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 แห่ง (เท่าเดิม) ภาคกลาง 1 แห่ง (เท่าเดิม) และภาคตะวันออก 3 แห่ง (เท่าเดิม)

 

 

อ่างเฝ้าระวัง (80-100%) ขนาดใหญ่ 5 แห่ง เขื่อนวชิราลงกรณ (95% เท่าเดิม) เขื่อนศรีนครินทร์ (91% เท่าเดิม) เขื่อนรัชชประภา (85% เมื่อวาน 86% ) เขื่อนขุนด่านปราการชล (87% เมื่อวาน 89%) เขื่อนนฤบดินทรจินดา (88% เท่าเดิม)

ขนาดกลาง 67 แห่ง (เพิ่มขึ้น 4 แห่ง) แยกเป็น ภาคเหนือ 7 แห่ง (ลดลง 2 แห่ง) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 43 แห่ง (เพิ่มขึ้น 4 แห่ง) ภาคตะวันออก 11 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) ภาคกลาง 4 แห่ง (เพิ่มขึ้น 1 แห่ง) และภาคใต้ 2 แห่ง (เท่าเดิม)


ติดตั้งโทรมาตรเตือนภัย ลุ่มน้ำปราจีนบุรี-นครนายก 

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วม คือ ลุ่มน้ำปราจีน และลุ่มน้ำนครนายก เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่มากโดยเฉพาะพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขณะนี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) จะเข้าไปติดตั้งโทรมาตรวัดปริมาณน้ำเพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำที่ตกในพื้นที่เขาใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาสาเหตุน้ำท่วมปราจีน นครนายก มาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกในอุทยานฯและยอบรับไม่มีตัวเลขน้ำทำให้การเฝ้าระวังไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้พร่องน้ำในแม่น้ำบางปะกงแล้ว โดยการแขวนบานประตูระบายน้ำทั้งหมด และให้กรมชลประทานติดตามว่าพื้นที่กาเรกษตรในพื้นที่บางพลวงประมาณ 1,000 ไร่ เก็บเกี่ยวเสร็จหรือยัง เพื่อจะไว้สำรองเป็นแก้มลิง

 

กฟผ.ลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล จากวันละ 8 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เหลือ 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เขื่อนสิริกิติ์ ลดการระบายจาก 20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เหลือ 15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน และลดการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา-ชัยนาทลงเหลือ 700 ลบ.ม.ต่อวินาที จาก 770 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา กรณีมีน้ำหลากมากจากทางตะวันตกในพื้นที่แม่วงศ์ จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง