วันนี้ (18 ม.ค.2562)นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ในช่วงที่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้ขาดตลาดในช่วงนี้ ทำให้บางคนสั่งซื้อทางออนไลน์ หรือเมื่อไปเที่ยวแล้วก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่หากพบว่านำหน้ากากอนามัยเข้ามาเพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตามกฎหมายก็จะต้องเรียกเก็บภาษี
โดยในการเก็บภาษีหน้ากากอนามัย เป็นไปตามกฎหมายคือเก็บภาษีนำเข้า 5% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการลักลอบนำเข้าอย่างไม่ถูกต้อง
หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าประเภทหนึ่งต้องเสียภาษีนำเข้า หากมีการนำเข้ามาเพื่อเชิงพาณิชย์ต้องเสียภาษีตามกำหนด และหากมีการนำเข้าในลักษณะติดตัวมาจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เองในปริมาณที่ไม่สูงมากตรงนี้ไม่ต้องเสียภาษีอากร แต่กรณีร้านค้ารับพรีออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศ ต้องมีการเสียภาษีตามกฎหมายด้วยเช่นกัน

นายชัยุยทธ กล่าวว่า ทั้งนี้ ตามพิกัดภาษีศุลกากร หากมีการนำเข้าสินค้าผ่านสนามบินมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาท สามารถนำเข้ามาได้โดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร แต่หากสิ่งของที่ซื้อเข้ามามีมูลค่าเกิน 20,000 บาท
และถึงแม้จะเป็นของชิ้นเดียวก็ตาม ผู้โดยสารจะต้องสำแดงสินค้าต่อเจ้าหน้าที่บริเวณ ช่องมีสิ่งของต้องสำแดงหรือช่องแดง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการให้ผู้โดยสารชำระภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามพิกัดอัตราที่ได้กำหนดไว้ เบื้องต้นจะต้องเสียภาษีศุลกากร 20% ของมูลค่าสินค้าที่ซื้อมา รวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7%
ขณะที่นายแพทย์ กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้าศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ด้านอาชีวเวชศาสตร์ โรงพยาบาล นพรัตนราชธานี กล่าวว่า ประชาชน ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ เพราะการหลีกเลี่ยงอยู่ภายนอกตัวอาคาร ก็เพียงพอต่อการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว เช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพ เช่น ผู้สูงอายุ และเด็ก ควรให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากากอนามัย มากกว่าเครื่องฟอกอากาศ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คาดคนกรุงฯ เผชิญ PM2.5 ถึงเดือน ก.พ. รัฐบาลมั่นใจรับมือได้