วันนี้ (28 ก.พ.62) ไทยพีบีเอส จัดเวทีส่งเสียงประชาชน ให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง ถกแถลงแจงนโยบาย : ปฏิรูปการเมือง “การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม” โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมือง 8 พรรคเข้าร่วม ดังนี้
นายสรธรรม จินดา พรรคประชาชาติ ,นายนิกร จำนง พรรคชาติไทยพัฒนา,นายถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์, นายนพพดล แก้วสุพัฒน์ พรรคพลังท้องถิ่นไทย, นายลัทธจิตร มีรักษ์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย, นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน และนายชำนาญ จันทร์เรือง พรรคอนาคตใหม่, ว่าที่ ร.ต.ฐกฤต ราชโคตร พรรคกลาง
พร้อมด้วยนักวิชาการอีกหลายท่าน นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย,นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง สถาบันสร้างอนาคตไทย นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม และนายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการตั้งคำถามถึงประเด็นต่างๆเกี่ยวกับนโยบายด้านการกระจายอำนาจ ดังนี้
คำถาม : วิสัยทัศน์ต่อการกระจายอำนาจของพรรคท่านคืออะไร
ว่าที่ ร.ต.ฐกฤต ราชโคตร ตัวแทนจากพรรคกลาง กล่าวว่า ต้องการให้ประชาชนมีอำนาจมากกว่า เพราะการกระจายอำนาจเหมือนเป็นการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันบางโครงการมีการช่วยเหลือจากส่วนกลางแต่ลงไปไม่ถึงประชาชนอย่างแท้จริง การกระจายอำนาจจึงควรตัดส่วนกลางและให้อำนาจประชาชน ผ่านการลงประชามติ
ว่าที่ ร.ต.ฐกฤต ราชโคตร ตัวแทนจากพรรคกลาง
นายนิกร จำนง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบาย 9 ข้อ การกระจายอำนาจเป็น ในแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ซึ่งมี 2 ประเด็น ที่ต้องเน้น คือ สนับสนุนงบประมาณให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยให้งบประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ในพื้นที่ที่เหมาะสมและประชาชนต้องการจะมีการพัฒนาให้มีการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ
นายสรธรรม จินดา พรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนเองมีอุดมการณ์และความเชื่อว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันในสิทธิ โอกาส และศักดิ์ศรี ทั้งสิทธิของคนจนและคนรวย ถือว่าเท่าเทียมกัน โอกาสของคนที่อยู่ในเมือง และโอกาสของคนที่อยู่ในชนบท ถือว่าเท่าเทียมกัน ซึ่งการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
นายถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ได้ประกาศอุดมการณ์กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากว่า 70 ปี เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งโดยนำผู้ที่ทราบถึงปัญหามาแก้ปัญหาไม่ใช่นำผู้จากส่วนกลางไปแก้ปัญหาให้ท้องถิ่น ในขณะนี้ประชาชนมีความต้องการแตกต่างกัน การบริหารและแก้ปัญหาจากส่วนกลางไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด
นายถวิล ไพรสณฑ์ พรรคประชาธิปัตย์
นายนพดล แก้วสุพัฒน์ พรรคพลังท้องถิ่นไทย กล่าวว่า ตั้งการกระจายรายได้ เป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจน เพื่อผลักดันแก้ไขปัญหาในประเทศของพรรค และไม่ต้องการกระจายอำนาจสู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น แต่ต้องกระจายอำนาจไปให้ถึงประชาชน โดยการสร้างพลเมืองให้ใหญ่กว่านักการเมือง
นายลัทธจิตร มีรักษ์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวว่า ใช้นโยบายจังหวัดของประชาชน โดยให้ประชาชนปกครองกันเองกลับคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมถึงการให้ข้าราชการเปลี่ยนความคิดว่าอำนาจเป็นของประชาชน โดยให้จังหวัดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษที่สามารถดำเนินการนโยบายของตนเองได้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานและงบประมาณ และให้จังหวัดทำแผนงานที่ต้องผลักดันอย่างเร่งด่วน และส่วนกลางต้องมีความพร้อมในการเตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน กล่าวว่าเป็นเวลา 5 ปี แล้วที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ออกกฎหมายมาแต่ไม่มีกฎหมายใดเลยที่อยู่ข้างประชาชน โดยมีกฎหมายบางส่วนที่ทำให้คน 1 % มีทรัพย์สินมากกว่าคน 99% แต่หากมีการกระจายอำนาจจะไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น
นายชำนาญ จันทร์เรือง พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เสนอให้กระจายอำนาจในทุกด้าน ยุติการรวมศูนย์อำนาจ ยกเลิกกฎหมายของ คสช.
คำถาม : การกระจายอำนาจที่ผ่านมาเป็นเพียงการขายฝันหรือไม่ แล้วการกระจายอำนาจในอนาคตจะคาดหวังได้หรือไม่
นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า หลายพรรคมีความตั้งใจในแก้ปัญหาด้วยการกระจายอำนาจ แต่ทุกพรรคต้องเจอกับพรรคราชการ ซึ่งเป็นชุดความคิดในการครอบงำการจัดการประเทศให้รวมศูนย์อำนาจ แม้ก่อนหน้านี้มีการผลักดันกฎหมายจังหวัดปกครองตนเอง แต่ท้ายที่สุดจะมีบางกระทรวงให้ความสำคัญกับการรวมศูนย์
นางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย
นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวว่า กระบวนทัศน์ของการกระจายอำนาจที่แท้จริง คือ การกระจายอำนาจสู่ประชาชนในทุกด้าน โดยสิ่งที่น่าเสียดายเมื่อมองย้อนกลับไป คือ ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกกำหนดโดยท้องถิ่นแต่กำหนดโดยส่วนกลาง ซึ่งมีกรอบบังคับจากกฎหมาย โครงสร้างรัฐไม่ถูกเปลี่ยนแม้จะมีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 22 ฉบับ แต่ไม่มีการพูดถึงการบริหารที่ตอบสนองต่อประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้รับสิทธิในการตัดสินใจหรือเสนอการแก้ไขปัญหา
ดังนั้น ปัญหาที่ว่าทำไมการกระจายอำนาจถึงไปไม่ถึงฝัน มี 2 ประเด็น คือ 1..ปัญหากฎหมายกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา 2.ปัญหามายาคติ ในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพและคอร์รัปชันในท้องถิ่น ที่เมื่อจะเดินหน้าก็มักถูกหยิบยกปัญหานี้มาเสมอ
นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง สถาบันสร้างอนาคตไทย มีผลสำรวจประชาชน 82% ห่วงความไม่สงบเรียบร้อยหลังการเลือกตั้งมากกว่าประเด็นอื่น ซึ่งมันเกิดขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำของสังคม โดยมีการกระจายอำนาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่แม้จะมีหลักการที่ดีแต่ไม่สามารถทำได้
นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง สถาบันสร้างอนาคตไทย
นายโคทม อารียา ประธานมูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม กล่าวว่า การกระจายอำนาจสามารถแบ่งออกได้เป็น ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค แต่หลักการสำคัญ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ต้องมองด้วยว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรับงานในการดูแลท้องที่ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แล้วส่วนกลางที่เคยเป็นผู้บริหารควรเปลี่ยนหน้าที่มาเป้นผู้ดูแลหรือเฝ้าระวังดีหรือไม่
คำถาม : องค์กรใดที่ประชาชนจะสามารถบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่
นางลัดดาวัลย์ กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชน ซึ่งประกอบด้วยคนที่อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว โดยมีรูปแบบการดำเนินการคล้ายกับพื้นที่ให้ชุมชนได้มาระดมสมองเพื่อเสนอแผนความต้องการแล้วเสนอท้องถิ่นให้แก้ไขปัญหา แต่ที่ผ่านมาองค์กรท้องถิ่นไทย รับการสั่งการจากส่วนกลาง ทำให้มีการยึดโยงกับส่วนกลางมากกว่าประชาชน
4 คำถามต่อพรรคการเมือง 1.แต่ละพรรคจะทำอย่างไรกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน 2.จะเปลี่ยนชุดความคิดของข้าราชการส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างไร 3.จะกระจายอำนาจอย่างไรให้ความขัดแย้งของประเทศตอนนี้ดีขึ้น 4.ทำอย่างไรให้เปลี่ยนสังกัดจากข้าราชภูมิภาคเป็นข้าราชการท้องถิ่น
นายชำนาญ กล่าวว่า ต้องการยกเลิกส่วนภูมิภาค โดยหลังลงพื้นที่ทุกจังหวัดพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษไม่เคยมีราชการส่วนภูมิภาค เกาหลี ญี่ปุ่น และอินโดนีเซียก็ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งแต่ละประเทศพัฒนาไปสู่แถวหน้าทั้งหมด ราชการส่วนภูมิภาคเป็นแค่จังหวัดกับอำเภอเท่านั้น แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ต้องมีหน้าที่ไม่ซ้ำซ้อนกับราชการท้องถิ่น โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็กลายเป็นผู้ช่วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมด จะต้องยกเลิกและให้เหลือเฉพาะข้าราชการส่วนท้องถิ่นเท่านั้น โดยให้ อบจ. และ อบต. บริหารจัดการโดยอาจให้ผู้ใหญ่บ้านและกำนันย้ายไปอยู่ในสภาองค์กรส่วนท้องถิ่น
ขณะนี้ ตอนนี้กฎหมายของสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาแทรกแซง ซึ่งประเทศไทยควรมีความเข้มแข็งในกฎหมายสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ภาคประชาชนมีอำนาจอธิปไตยในการผลักดันการแก้ปัญหาในท้องถิ่นได้ ซึ่งจะทำให้การกระจายอำนาจเป็นไปในทิศทางที่ดี
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ พรรคสามัญชน
ส่วนกลางต้องมีงบประมาณและบุคลากร โดยในส่วนกลางให้เหลืองบประมาณและบุคลากรอยู่เพียง 30-40 % ส่วนบุคลากรที่ไม่อยากไปท้องถิ่น ก็ลาออกไปยิ่งกระจายอำนาจมากเท่าไหร่ ความขัดแย้งยิ่งน้อยลง และอาจนำไปสู่การหมดความขัดแย้งได้
นายลัทธจิตร กล่าวว่า แต่ละจังหวัดมีหน่วยราชการที่ซ้ำซ้อนกันในแต่ละพื้นที่ พรรคจึงจะมีการจัดสรรองค์กรขึ้นมาใหม่ ให้บริหารจัดการกันภายใน กำนัน และผู้ใหญ่บ้านมีความสำคัญกับท้องถิ่น เนื่องจากรู้ปัญหาในชุมชนอย่างแท้จริง จึงควรพาไปทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างจริงจัง
ส่วนบุคลากร ต้องมีชุดความคิดว่า ประชาชนมีความพร้อมที่จะปกครองตัวเอง และไม่ต้องวิตกในการสูญเสียโครงสร้างอำนาจ มีการกำหนดอัตรากำลัง และเปิดให้มีการกลับไปทำงานที่บ้าน ก็จะช่วยให้ข้าราชการมีขวัญกำลังใจในการทำงานและไปช่วยท้องถิ่น
นายนพดล กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบัน คือ ความซ้ำซ้อนทั้งงาน เงิน คน และภารกิจ การแก้ไขปัญหา คือ ต้องให้ข้าราชส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน ให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคสนับสนุนท้องถิ่นและให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปทำงานและใช้ทรัพยากรร่วมกันกับภูมิภาค โดยเฉพาะงบประมาณและการที่ท้องถิ่นเป็นนิติบุคคลในส่วนเล็ก การที่ข้าราชการโอนไปอาจมองว่าไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จึงควรมีการจัด ให้มีสวัสดิการที่ดีต่อข้าราชการท้องถิ่นด้วย
นายถวิล กล่าวว่า การควบรวม อบจ.และราชการส่วนภูมิภาคเข้าด้วยกัน โอนงาน ทรัพย์สินเข้าไปในองค์กรใหม่ หน้าที่ส่วนจังหวัด ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดเจนว่า อะไรบ้างที่ท้องถิ่นทำได้หรือไม่ได้มีสภาพลเมืองให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบการทำงาน โดยเลือกจากประชาชนแต่ละอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และให้หน่วยงานส่วนกลางเข้ามาช่วยบริหารในแต่ละจังหวัด พร้อมจัดตั้งองค์กรพิจารณาส่วนกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารจัดการเมืองเศรษฐกิจมหานคร โดยนำร่อง 2 จังหวัด โดยเน้นที่เมืองใหญ่ก่อน
รับเปลี่ยนการทำงานในกรุงเทพมหานคร กระจายอำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยให้มีหน่วยงานเล็กๆ กระจายอำนาจ โดยให้เลือกตั้งนายกนครบาล มีสภานครบาล โดยกระจายงานจากผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร การกระจายอำนาจเป็นการแก้ปัญหาในเรื่องความปรองดอง โดยให้อำนาจประชาชนมากขึ้น ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการปฏิรูปการเมือง
นายถวิล กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาของท้องถิ่นไม่มีใครรู้ดีกว่าท้องถิ่น ไม่มีใครรักท้องถิ่นมากกว่าคนในท้องถิ่นเอง ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีการกระจายอำนาจเกิดขึ้น ประเทศไทยก็จะไม่เกิดความปรองดองแน่นอน
นายสรธรรม กล่าวว่า ควรเน้นการสร้างความปรองดองโดยไม่ให้เกิดผลกระทบในส่วนราชการเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นองค์กรเกิดขึ้นใหม่โดยการกระจายอำนาจควรรลดอำนาจภูมิภาคและส่วนกลาง เพิ่มอำนาจท้องถิ่นและชุมชน ในปัจจุบันท้องถิ่นได้มีอำนาจ มีเพียงงานที่ถูกแบ่งมาเท่านั้น
นายสรธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดอย่าง ภูเก็ต เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น ควรมีการจัดการในรูปแบบการปกครองพิเศษ แต่ต้องมีกรอบโดยเฉพาะเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใส โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ต้องมีการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขต เพราะในปัจจุบัน ผู้อำนวยการเขตมีเป้าหมายกับผู้ใหญ่ที่แต่งตั้งตำแหน่งให้เท่านั้น ไม่ใช่ประชาชน
นายนิกร กล่าวว่า พอกันทีกับการที่นำอำนาจของประชาชนมาจากการเลือกตั้ง แต่คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านส่วนราชการต่างๆ แต่ควรมีการดำนเนินการให้ประชาชนโตเอง โดยพรรคตั้งนโยบาย 10 ล้านบาทเพื่อให้ท้องถิ่นฟื้นฟู ดูแลตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีท้องถิ่น 70% ที่ช่วยตัวเองไม่ได้
งบประมาณ 5 ล้านบาทแรกให้นำไปบริการประชาชน อีกครึ่งให้ไปลงทุนเนื่องจากเก็บภาษีไม่ได้ รายได้ขาดแคลน แต่หากมีการพัฒนาการท่องเที่ยวจะทำให้เก็บภาษีและมีรายได้เพิ่มขึ้น หากถ้าประชาชนยืนขึ้นมาเองได้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ไม่จำเป็น เพราะท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ ดังนั้นต้องเอาปุ๋ยไปใส่ให้ประชาชน เพื่อให้งอกขึ้นมาได้จริงๆ อย่างแม่สอด หรือ EEC ภาคตะวันออก ก็ให้ปกครองตนเองไปเลย ไม่เช่นนั้นจะต้องไปเจออุปสรรค คือ พรรคข้าราชการอีก แต่หากประชาชนโตเองจะไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นได้
ว่าที่ ร.ต.ฐกฤต กล่าวว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกอย่าง ลดอำนาจภาครัฐและส่วนกลาง คืนสู่ประชาชน และภาษีของท้องถิ่นควรอยู่กับท้องถิ่น ลดทอนอำนาจส่วนกลางและอำนาจราชการภูมิภาคลงเรื่อย ๆ ให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมาช่วยให้คำปรึกษาประชาชนเท่านั้นแต่ไม่ให้อำนาจ
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีในการลงประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้เสนอและผลักดันการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองเพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น
นางลัดดาวัลย์ รัฐธรรมนูญของไทย มีการเขียนให้รับฟังเสียงของประชาชนทั้งหมด ซึ่งกระทรวงและทบวงก็รับฟัง ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ แต่ไม่ได้รับฟังประชาชนอย่างแท้จริง
คำถาม ควรทำอย่างไรที่ราชการจะฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ?
นายยุทธพร กล่าวว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกวันนี้ เป็นผู้นำตามธรรมชาติ ที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด แต่ไม่ได้มีโครงสร้างในการบริหารจัดการได้ในลักษณะองค์กรสมัยใหม่ ไม่มีงบประมาณ ไม่มีแบบแผน แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีสิ่งเหล่านี้ หากสามารถนำ 2 ส่วนมารวมกันได้โดยแปรสภาพกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาเป็นสมาชิกเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ก็จะเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
นายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ กำกับทุกส่วน ซึ่งเป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ ที่เข้ามาเพิ่มอำนาจให้ส่วนข้าราชการ ซึ่งหากจะไปแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ต้องผ่านด่าน ส.ว. ซึ่งไม่ทราบว่าจะผ่านไปได้อย่างไร
นายยุทธพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกฎหมายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำได้ยากแต่จะสามารถทำได้ด้วยเสียงของประชาชน โดยให้มีการเกิดเวทีเพื่อพูดคุยส่งเสียงประชาชน และสร้างองค์กรที่ไม่ต้องเป็นทางการ แต่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เช่น องค์กรในแต่ละจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นมาเอง โดยสรุปแล้วควรเริ่มกระจายอำนาจจากจุดเล็กๆ และลดปฏิปักษ์กับรัฐลง
นายโคทม กล่าวว่า การกระจายอำนาจ ต้องการ 3 ส่วน เพื่อให้ดำเนินไปได้สำเร็จ คือ ความรู้ สื่อหรือเวทีเพื่อขับเคลื่อน และการเมือง ทั้ง 3 ส่วนไม่ว่าใครจะเริ่มหรือตาม มันจะกลายเป็นพลังในความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
คำถาม ใช้ช่องทางใดทำให้การกระจายอำนาจประสบความสำเร็จ
นายนิกร กล่าวว่า ควรใช้เสียงของประชาชน ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบอำนาจจะกระจายไปเอง ส่วนนี้จะทำให้ประชาชนหวงแหนอำนาจของเขาเอง หากสภามีน้ำหนักพอ และประชาชนต้องการก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้
ทุกสิ่งทุกอย่างต้องมาจากความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ทางแก้ที่สามารถกระจายอำนาจได้ คือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างมากที่สุด เพราะราชการไม่มีทางต่อต้านเสียงประชาชนได้
นายชำนาญ กล่าวว่า ต้องเลือกพรรคอนาคตใหม่ เพื่อไปเป็นตัวแทนในการกระจายอำนาจ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนมากกว่าและควรไปไกลกว่าการมีส่วนร่วมโดยให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ แล้วเขาจะหวงแหนเอง
นายลัทธจิตร กล่าวว่า ควรนำเสนอในช่องความรับรู้ของประชาชนให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจได้รับรู้ และพร้อมที่จะปกครองตนเอง และให้ประชาชนได้ส่งเสียงประชาชนไปได้ไกลกว่าการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดผลได้ชัดเจนมากขึ้น
นายนพดล ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยให้ความรู้ ความเข้าใจประชาชน ทั้งการใช้ทรัพยากร และช่องทางการเมืองจากการเลือกตั้ง และการสื่อสาร โดยสื่อมวลชนต้องประชาสัมพันธ์ถึงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนกฎหมายที่ถูกมองว่าจะมาขัดขวาง หากประชาชนได้รับทราบ ก็จะทำให้ประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาได้
นายนพพดล แก้วสุพัฒน์ พรรคพลังท้องถิ่นไทย
ว่าที่ ร.ต.ฐกฤต กล่าวว่า ประชาชนต้องมีส่วนร่วมทุกอย่างจะใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องเกิดจากประชาชนยอมรับจากการทำประชามติ ไม่ว่าพรรคกลางจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่จะสนับสนุนการใช้ประชามติ
นายสรธรรม กล่าวว่า ต้องสร้างอำนาจภาคประชาสังคมและภาคประชาชน โดยให้ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งมาต่อรองกับภาครัฐ ก็จะสามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่ต้องพึ่งเงิน
นางลัดดาวัลย์ กล่าวว่า เชื่อว่า 400 เสียง น่าจะช่วยสู้กับ 250 เสียงได้ หากทุกพรรคต้องการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจจริงๆ
นายยุทธพร กล่าวว่า ทุกพรรคคือตัวแทนจากประชาชน สิ่งที่อยากฝากให้ทุกพรรคการเมือง คือ อุดมการณ์ โดยเฉพาะการส่งเสริมการเข้มแข็งของประชาชน ซึ่งจะเป็นประตูที่สำคัญที่จะนำไปสู่การก้าวข้ามความขัดแย้งในประเทศไทย
นายโคทม กล่าวว่า หากทั้ง 26 พรรค เห็นพ้องต้องกันที่จะตั้งคณะกรรมการที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายวิชาการ ฝ่ายองค์กรท้องถิ่นและส่วนข้าราช เพื่อรับฟังทุกฝ่าย และวางแผนในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ก็จะนำไปสู่การกระจายอำนาจได้