เมื่อวานนี้ (12 ก.ย.2562) ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการผู้จัดการและประธานกรรมการในคณะกรรมการลงทุนของกองทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โซลาริส จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บลจ.อินโนเทค รายนายสุพรรณ เศษธะพานิช ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตและแสวงหาประโยชน์จากการอนุมัติให้กองทุนรวมของ บลจ.โซลาริส ลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงิน (B/E) โดยตนเองหรือบุคคลอื่นได้รับประโยชน์
สืบเนื่องจากกรณีที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารของ บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (KC) และพวก กรณีร่วมกันทุจริตจากการให้ KC ออกตั๋ว B/E ขายกองทุนรวมของ บลจ.โซลาริส และยักยอกเงินจากขายตั๋วดังกล่าวไปเป็นจำนวน 430 ล้านบาท และในที่สุดตั๋ว B/E ของ KC ผิดนัดชำระหนี้จำนวน 350 ล้านบาท
พบหลักฐาน "สุพรรณ" รับประโยชน์ขายตั๋ว B/E
ก.ล.ต.ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า การลงทุนในตั๋ว B/E ดังกล่าวอนุมัติโดยคณะกรรมการลงทุนของกองทุน บลจ.โซลาริส ซึ่งมีนายสุพรรณ เป็นประธาน และมีพยานหลักฐานเชื่อว่า นายสุพรรณได้รับประโยชน์เกี่ยวเนื่องจากการขายตั๋ว B/E ดังกล่าว ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายต่อ บลจ.โซลาริส ทำให้ผู้ลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดทุน และเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง และมาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต.จึงกล่าวโทษนายสุพรรณต่อดีเอสไอ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
การกล่าวโทษมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว รวมทั้งบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้ตรวจสอบคณะกรรมการลงทุนของกองทุน บลจ.โซลาริส ที่อนุมัติให้กองทุนรวมลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และพบข้อบกพร่องในการพิจารณาข้อมูลหรือปัจจัยสำคัญของผู้ออกตราสารที่กระทบต่อความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยคณะกรรมการเปรียบเทียบได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับบริษัทไปแล้ว เป็นเงิน 1.93 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561 และเป็นผลให้คณะกรรมการลงทุนของกองทุน เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน มีผลตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2562 ยกเว้นกรณีนายอิศรา มีผลตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2562
สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ "สุพรรณ" 3 ปี 6 เดือน
ก.ล.ต.จึงสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่เป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนของนายสุพรรณ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะกรรมการลงทุนของกองทุน เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน และ น.ส.วราภรณ์ สุพฤกษาสกุล, นายอิศรา เรืองสุขอุดม, นายศุภณัจ เจนพินิจ และ น.ส.จุฑามาศ พุทธมี กรรมการในคณะกรรมการลงทุนของกองทุน รายละ 1 ปี 3 เดือน นอกจากนี้ นายสุพรรณยังมีความผิดตามมาตรา 283 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ซึ่ง ก.ล.ต.มีหนังสือแจ้งให้นายสุพรรณเข้ารับการเปรียบเทียบความผิด แต่นายสุพรรณไม่ยินยอม ก.ล.ต.จึงได้กล่าวโทษนายสุพรรณไปพร้อมกันแล้ว
อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต.เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้นภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ