วันนี้ (5 ต.ค. 62) คณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่าและพืชป่า (ชุดเหยี่ยวดง) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบการลักลอบค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามที่ได้รับแจ้งทางเพจเหยี่ยวดงว่ามีการค้านกและเต่าผิดกฎหมาย บริเวณศาลเจ้าโจวซือก๋ง (วัดซุ่นเฮงยี่) ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบว่ามีคนพลุกพล่านเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นเทศกาลกินเจ ขณะเดินตรวจมาถึงบริเวณด้านซ้ายของลานพิธีกรรมของศาลเจ้าโจวซือก๋ง พบมีการนำเต่าหลายชนิดใส่กะละมัง และนกอีกหลายชนิดอยู่ในกรง วางไว้บนพื้นลานศาลเจ้า แต่ไม่พบคนขายสอบถามร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียง ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใดและไม่มีใครรับเป็นเจ้าของ หรือนำเอกสารหลักฐานการได้มา มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่จึงได้ไปสอบถามผู้ดูแลศาลเจ้าฯ ได้แจ้งว่า ตนเองก็ไม่สนับสนุนให้มีการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองในบริเวณศาลเจ้าฯ แต่ก็ยังมีบางคนแอบนำมาขาย ซึ่งปีหนึ่งจะมีครั้งเดียวในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งตนเองก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร คณะเจ้าหน้าที่จึงเข้าตรวจสอบสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าว พบสัตว์รวม 8 ชนิด จำนวน 948 ตัวดังนี้
1. เต่านา จำนวน 151 ตัว
2. เต่าบัว จำนวน 31 ตัว
3. เต่าหับ จำนวน 25 ตัว
4. เต่าดำ จำนวน 7 ตัว
5. ตะพาบหรือปลาฝา จำนวน 2 ตัว
6. นกกระจาบ จำนวน 76 ตัว
7. นกกระติ๊ดขี้หมู จำนวน 641 ตัว
8. นกกระติ๊ดแดง จำนวน 15 ตัว
อุปกรณ์การกระทำผิด
1. กะละมังอลูมิเนียม จำนวน 2 ใบ
2. กะละมังพลาสติก จำนวน 7 ใบ
3. ตะกร้าพลาสติก จำนวน 8 ใบ
4. กรงไม้เล็ก จำนวน 4 กรง
5. กรงไม้ใหญ่ จำนวน 5 กรง
6. กรงเหล็กเล็ก จำนวน 6 กรง
รวมมูลค่าของกลางประมาณ 39,050 บาท คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 19 ข้อหา “มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” และมาตรา 20 ข้อหา "ค้าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต" ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงจัดทำบันทึกตรวจยึดและนำของกลางดังกล่าว ส่งพนักงานสอบสวน กก.1 บก.ปทส ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางประเภทนก รวมทั้งอุปกรณ์ ขออนุมัติพนักงานสอบสวนนำไปดูแลรักษาที่ฝ่ายสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่วนสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทเต่าและตะพาบรวมทั้งภาชนะ ส่งมอบให้กรมประมงรับไปดูแลรักษาต่อไป
ทั้งนี้ การนำนก เต่า มาขายเพื่อให้ประชาชนซื้อไปปล่อยโดยอาศัยความเชื่อที่ว่าเป็นการทำบุญต่ออายุหรือสะเดาะเคราะห์ จะทำให้สัตว์เหล่านี้ต้องตายไปในระหว่างการล่าและการขนส่งเป็นจำนวนมาก และเมื่อนำมาปล่อยในท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่ถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของสัตว์เหล่านั้น ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือหลายคนปล่อยเต่าบกลงในน้ำ ทำให้จมน้ำตาย จึงไม่ควรสนับสนุนการซื้อสัตว์ป่าไปปล่อย เพราะถือว่าเป็นการทำบาปแทนการทำบุญ