ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัยไทยไขความลับ "ค้างคาว" ไม่น่ากลัว

สิ่งแวดล้อม
17 ก.พ. 63
14:50
24,797
Logo Thai PBS
นักวิจัยไทยไขความลับ "ค้างคาว" ไม่น่ากลัว
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยผู้ไขความลับ ชีววิทยาค้างคาวของประเทศไทย ในมุมน่ารักค้างคาวคือ "นักปลูกตำลึง" พร้อมติดตามโรคอุบัติใหม่จากค้างคาวไทย

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้เรื่องราวของ "ค้างคาว" ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่าค้างคาวมงกุฎในประเทศจีน อาจเป็นหนึ่งในต้นตอการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ชื่อว่า "COVID-19" แม้ว่าค้างคาว จะไม่ใช่ผู้ร้ายเสียทีเดียว เพราะต้นเหตุของการทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในสัตว์ป่า ออกมาข้ามสายพันธุ์เข้าสู่คน และคนสู่คน ก็คือคน นั่นเอง

ทำไมต้องศึกษาค้างคาว 

นักวิจัยไทยศึกษาพบว่าประเทศไทยมีค้างคาว 140 ชนิด และพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในค้างค้าวไทยกว่า 400 ชนิด แต่ยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อสู่คน รวมทั้งยังไม่เจอเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ในค้างคาวไทย

ที่ต้องศึกษา เพื่อให้รู้ถึงชีววิทยาของค้างคาว และประกอบกับในโลกมีรายงานเชื้อโรคอุบัติใหม่จากค้างคาวทุกๆ ปี นับตั้งแต่การมีรายงานว่าค้างคาวสามารถแพร่โรคอุบัติใหม่ได้ เช่น โรคซาร์ส จากค้างคาว ไปสู่อีเห็น-ชะมด และคน ค้างคาวแม่ไก่ ที่มีเชื้อนิปาห์ มีการติดต่อโดยตรงจากค้างค้าวสู่คนในประเทศบังคลาเทศ หรือติดจากค้างคาว สู่หมู่ -สู่คน ที่มาเลเซีย รวมทั้งโรคอีโบลา ที่มาจากเชื้อไวรัสในค้าง คาวบัวที่แอฟริกา ซึ่งกรณีโรคอีโบลา ทีมวิจัยเจาะหาเชื้อมาแล้วกว่า 1 ปี และผลการศึกษาไม่พบเชื้ออีโบลาในค้างคาวบัวในไทย

 

นักวิชาการ ระบุว่า แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และวางแผนรับมือไวรัสโคโรนาจากสัตว์สู่คน ทีมนักวิจัยไทยที่ศึกษาไวรัส และโรคอุบัติใหม่ในค้างคาวทั้งจาก มก.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมลงพื้นที่เจาะเลือด และเก็บสารคัดหลั่งในค้างคาวสายพันธุ์มงกุฎ ซึ่งกระจายตัวและอาศัยอยู่ในถ้ำทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา คาดว่าจะเริ่มภายใน 1-2 เดือนนี้

แบบไหนที่ต้องกลัวค้างคาว 

ในมุมมองคิดว่า เชื้อโรคจากค้างคาวติดไม่ใช่ติดจากค้างคาวสู่คน แต่การติดจากคนสู่คน ที่เกิดตอนนี้เพราะเชื้อไปจากคนสู่คน เรียกว่าเชื้อจากค้างคาวสู่คน ยังไม่น่ากลัว แต่สาเหตุมาจากการบริโภคค้างคาว และกินสัตว์ป่าแบบดิบๆ กินเลือดสด ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้ามีคนบริโภคค้างคาวแแค่ร้อยละ 0.1 เท่ากับยิ่งมีโอกาสทำให้เชื้อโรคเปลี่ยน Host ที่เคยอยู่ในสัตว์ป่ากระโดดเข้าหาคนจะมีปัญหา

 ที่ดูจากข่าวเชื้อจากคนสู่คน น่ากลัวที่สุด จากค้างคาวสู่คนโอกาสน้อยมาก แต่ปัญหามาจากคนที่ไปสร้างโอกาสเอาความเสี่ยงมาหาตัว เช่น การกินค้างคาวสดๆ กินเลือด เมื่อเชื้อโรคที่เคยอยู่ในตัวค้างคาวเปลี่ยนตัวผู้อาศัย มาอยู่ในคนตัวเชื้อจะปรับพันธุกรรม กลายพันธุ์ และสามารถติดจากคนสู่คนได้ ซึ่งบางครั้งเชื้อโรคอาจจะฟักตัวอยู่ในร่างกายคน โดยไม่แสดงอาการและนำโรคติดต่อจากคนสู่คนได้

นักวิทยาศาสตร์ กำลังสอบสวนว่าทุกอย่างเกิดจากอะไร ต้องกลับไปศึกษาว่าถ้าเชื้อมาจากค้างคาวจริง ทำไมในค้างคาวที่มีเชื้อโรคถึงไม่ป่วย ต้องเอาค้างคาวเป็นต้นแบบ ถ้ารู้กระ บวนการของค้างคาวก็จะปรับใช้ในการรักษา ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงลึกที่ต้องหาคำตอบเพิ่ม

กินค้างคาวดิบเสี่ยงรับเชื้อโรคสู่คน

ถ้าให้ประเมินการแพร่เชื้อโรคจากค้างคาว มาสู่คน โอกาสน้อยมาก ไม่น่าห่วง แต่ควรจะโฟกัสที่คน ที่ป่วย และเป็นตัวกลางในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนมากกว่า เป็นการจัดการแพทย์จากคนสู่คน ซึ่งค้างคาวกับคนไทยอยู่ด้วยกันมานานแล้ว ตามบ้าน เพดาน ตามวัด อยู่ใกล้กับคนมานานแล้ว และทางคณะแพทย์ จุฬาฯเคยมีการตรวจคนที่มีความเสี่ยง ไม่พบเชื้อจากค้างคาวมาสู่คน แต่ไม่ใช่ว่าจะไปจับค้างคาวมาเล่นได้ ประมาทไม่ได้อย่าทำให้เสี่ยง ไปจับค้างคาวมากิน

ถึงแม้ค้างคาวจะมีตัวเชื้อโรคอยู่ในตัวเอง แต่ค้างคาวไม่ใช่ผู้ร้าย สิ่งที่โหดคือคนไปกินค้างคาว ตรงนี้ที่จะเปลี่ยนให้เชื้อจากค้างคาวมาสู่คนมีโอกาสเสี่ยง ยิ่งคนที่กินดิบ จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น 

ค้างคาวไทยเริ่มไร้ที่อยู่

ถ้าสังเกตเราจะเห็นค้างคาวอาศัยอยู่ร่วมกับคนมานานแล้ว จะเห็นค้างค้าวบินออกมาในซอกตึก กันสาด ในบ้านร้าง ตามจั่ว ตามฝ้าเพดาน โดยเฉพาะบ้านชลบุรี เห็นชัดว่าค้างคาวไปอาศัยบนฝ้า และเมื่อถูกปิดเพดาน ก็เข้าไม่ได้ เหมือนกับเราติดที่ เมื่อเข้าไม่ได้ เลยมาเกาะข้างนอกบ้าน ทำให้ชาวบ้านเลยตกใจ

บอกได้เลยว่าบ้านร้างทุกที่ใน กทม. ในภาคกลางจะมีค้างคาวเข้าไปอาศัยอยู่ เท่าที่ดูจากภาพถ่ายน่าจะเป็นพันธุ์ปีกถุงเคราดำ ไม่อันตราย ไม่มีรายงานว่ามีเชื้อ

แต่คำแนะนำถ้าเจอค้างคาว ไม่ต้องไปตีไปย้าย ต่างคนต่างอยู่ เพราะถ้ายกยกตัวอย่างนกพิราบ จากสนามหลวง เอาไปปล่อยที่ จ.ราชบุรี แก้ปัญหาให้กทม.แต่สุดท้ายค้างคาวก็จะหาที่อยู่ที่อื่นๆ เขาจะหาบ้านหลังอื่นที่มีความทึบแทน

ไทยมีค้างคาวตัวใหญ่-ตัวเล็กที่สุดของโลก 

ค้างคาวแม่ไก่ทางใต้มีการบันทึกไว้ว่าเป็นค้างคาวที่ใหญ่ที่สุดบนโลกนี้ เพราะความกว้างจากปีกจนถึงปลายปีกเกือบ 2 เมตร ก็ถือว่าตัวใหญ่ที่สุด ส่วนตัวที่เล็กที่สุดบนโลกนี้ก็คือค้างคาวกิตติ ส่วนที่ชาวบ้านมักเจอบ่อยๆบินออกจากถ้ำ บินออกเป็นสายยาวมีจำนวนตัวมากถึงหลักแสนหรือล้านตัว เช่นที่เขาช่องพราน จ.ราชบุรี เขาลูกช้าง จ.กาญจนบุรี ถ้ำจ.สุโขทัย ค้างคาวสายพันธุ์นี้เรียกว่าค้างคาวปากย่น ซึ่งเรามักคุ้ยเคยกับค้างคาว 2-3 ชนิด ถ้าบินตัวใหญ่มากก็คือค้างคาวแม่ไก่ และค้างคาวปากย่น คนจะคุ้นชิน

ส่วนตัวเล็กที่สุดของโลกตัวนี้ชื่อ ค้างคาวกิตติ ในวงการวิทยาศาสตร์ยุคนั้น ช่วงที่เจอครั้งแรกตื่นเต้นมาก เพราะขนาดตัวค้างคาวที่เล็กเท่าหัวแม่มือ น้ำหนักแค่ 2 กรัม บินได้และเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทางวิทยาศาสตร์ทั้งโลกตื่นตาตื่นใจว่าประเทศไทยมีการศึกษาชนิดค้างคาวที่ทั่วโลกจับตามอง

ศึกษาค้างคาว ชอบตัวไหนที่สุด

ศึกษาหลายชนิด แต่ที่ศึกษาพฤติกรรมแล้วสื่อกันได้ น่าจะเป็นกลุ่มค้างคาวแม่ไก่ เราจะเห็นภาพชัดมากขึ้นว่า ถ้าเฝ้ามันทั้งวัน จะเห็นอาการของเขาว่ามีรู้สึก ฉลาด มีความคิด มีเหตุมีผลในการเจอเรา เกาะที่เดิม ไม่เกาะที่เดิม นอนเมื่อไหร่ ถ้าเข้าไปใกล้จะทำตัวอย่างไร และยิ่งได้ติดจีพีเอสในตัวค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง ทำให้รู้ถึงพฤติกรรมละเอียดมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ผมรู้คำตอบ และรู้สึกอึ้งมากว่ามันทำหน้าที่ปลูกต้นตำลึง ทำมา 5-6 ปีเพิ่งไขความลับได้เรื่องนี้

 

เชื่อว่าคนที่โตมาอาจจะสงสัยว่าใครปลูกต้นตำลึงให้เรากิน เรากินตำลึงมาแต่เด็ก พอติดจีพีเอส ทำให้รู้คำตอบนี้โดยบังเอิญ เราตามไปทีแรกคิดว่าจีพีเอสเสีย ตามไปเจอที่กลางทุ่ง เจอต้นไม้หนึ่งต้นมีที่มีต้นตำลึงคลุมอยู่ ค้างคาวกินลูกตำลึงสุก และไปขี้ตามหัวไร่ปลายนา

ผมกล้าท้าว่าไม่มีใครปลูกต้นตำลึง เกิดมาเรากินต้นตำลึงและไม่มีใครปลูก คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ใส่ใจกับธรรมชาติ ไม่เห็นคุณค่า ถ้าเราไปฆ่าค้างคาวแม่ไก่จนหมด แล้วใครจะเป็นคนปลูกตำลึง และธรรมชาติคงสูญเสีย

นักวิจัย บอกว่า ไม่เพียงแต่ต้นตำลึงที่เป็นฝีมือของค้างคาว แต่ยังได้รู้ข้อมูลอีกว่า ค้างคาวกินน้ำตรงไหน กินอะไร ทำไมค้างคาวเลือกกินมะม่วงก่อน พอติดวิทยุ ถึงรู้ว่าพอค้างคาวรู้ว่า สวนนี้มะม่วงสุก ตอนกลางวันค้างคาวไปนอนที่เดิม พอรุ่งขึ้นเขาจะบินตรงไปสวนนั้นทันที เช่น สมมุติค้างคาวอยู่ที่วัด แต่พอช่วงทุ่มนึงปั้บ เขาจะยกตัวบินตรงไป จะไกล 6-8 กิโลเมตรก็บินตรงไป ตรงนี้มนุษย์ตอบไม่ได้ บินไปบินกลับ พอมะม่วงสุกสวนนี้หมด เขาจะเริ่มไปหาสวนอื่นๆแทน

เราไม่รู้ว่าเขาใช้อะไรในการคิด เพราะเขาไม่ได้ปลูกมะม่วงจะรู้ได้อย่างไรว่าวันนี้จะไปกินตรงไหนอีกวันจะไปตรงไหน เพราะถ้าผิดพลาดมะม่วงหมด ถ้าอดอาหาร 1 วัน อาการจะไม่ดี เพราะกลางวันต้องกลับมานอน ดังนั้นการคำนวณจึงต้องเป๊ะมาก ยิ่งมีลูก มีครอบครัวต้องพาไป 5-20 ตัว ค้างคาวเหมือนชาวสวนเลย ไม่มีสะเปะสะเปะ สรุปค้างคาวฉลาดมีแผนที่สวนอยู่ในหัว 

ค้างคาวทำไมต้องห้อยหัว

มีคำตอบว่าทำไมต้องนอนห้อยหัว ถ้าดูจากค้างคาวแม่ไก่ เขาปรับตัวเพื่อการบิน ถ้าดูจากต้นขาจนถึงน่องเราใหญ่มาก แต่ต้นขามีกล้ามเนื้อจะหนัก และขาค้างคาว ไม่ได้ใช้เดิน ดังนั้นจึงลดรูปร่าง และรับแรงไม่ได้ แต่ไปเพิ่มปีกยิ่งใหญ่ ยิ่งใช้พลังงานเยอะ ดังนันเขาลดรูปกล้ามเนื้อ ลดรูปกระดูกที่บริเเวณไม่ใช้เดิน แต่ไปเพิ่มส่วนกล้ามเนื้ออก และปีก เพื่อใช้ในการบิน

และถ้าไม่เดินจะขึ้นอย่างไร ลองนึกถึงเครื่องบิน ถ้าจะขึ้นเดินไม่ได้ ส่วนนกจะใช้การวิ่งมีแรงผลักให้บิน แต่ค้างคาวตัวหนัก วิ่งไม่ได้ ก็ต้องปรับมาห้อยหัว ถ้าห้อยหัวขาของค้างคาวจะเป็นตะขอ เวลาเกาะนอนในช่วงกลางวันจะไม่ใช้แรงใดๆ เพราะขาที่มีลักษณะตะขอที่เกี่ยวกัน น้ำหนักตัวจะเป็นตัวถ่วง และเซฟพลังงาน เวลาจะบินแค่ปล่อยตะขอออกจากกันแล้วบินไป

ตอบง่ายๆ ทำไมค้างคาวห้อยหัว เพื่อปรับตัวเรื่องการบินร่อนออกจากที่ห้อย ไม่ได้กางปีกบินแบบนก และหนีศัตรูง่าย

ค้างคาวดูดเลือดมีจริงมั้ย

ค้างคาวกินเลือดมี แต่ไม่ใช่การดูดเลือด แต่ในหนังแดร็กคิวล่าในยุโรป เขาจินตนาการเป็นคนดูดเลือดกัดคอ แต่ค้างคาวกินเลือดนั้นมีอยู่จริงในประเทศแถบอมริกากลาง และอเมริกาใต้ เขาเรียกว่าค้างคาวแวมไพร์ เป็นค้างคาวที่เดินไปแล้วกัดเบาๆ เมื่อเลือดวัวซึมออกจากตัววัว ค้างคาวจะเลียเลือด ไม่ใช่การดูดเลือดแน่นนอน

สำหรับผมค้างคาว ไม่ได้น่ากลัว ตอนลงสำรวจก็เคยโดนกัด แม้ว่าตามลักการก็ใส่ถุงมือ ปีหนึ่งไปเข้าถ้ำตามชีวิตค้างคาวเฉลี่ยเดือนละหนึ่งครั้ง ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และก่อนที่จะมีปัญหาไวรัสโคโน เพิ่งไปที่เขาช่องพราน นับประชากรค้างคาว ไปที่อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน รวมทั้งภูกระดึง รวมทั้งยังมีแผนไปอุทยานแห่งชาติออบขาน ดอยสุเทพ-ปุย

เนื่องจากก่อนหน้านี่เราหาคำตอบเรื่องอีโบลาในค้างคาวบัว เพื่อสำรวจอย่างเข้มข้นว่าไม่มีเชื้อโรคนี้ เพื่อให้คนมั่นใจว่าโรคอิโบลามีหรือไม่มีเชื้อในค้างคาว แต่เมื่อมีไวรัสโคโรนา ก็ต้องโฟกัสมาที่ตัวค้างคาวมงกุฎในไทย เพื่อหาคำตอบในประเด็นนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ม.เกษตร-จุฬาฯ เร่งสำรวจค้างคาวมงกุฎไทยหาเชื้อ "โคโรนา"

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง