ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้สิทธิ รู้หน้าที่ ง่ายนิดเดียว ข้อควรรู้ก่อนเลือกตั้ง อบจ. 2568

การเมือง
13 ม.ค. 68
14:45
1,527
Logo Thai PBS
รู้สิทธิ รู้หน้าที่ ง่ายนิดเดียว ข้อควรรู้ก่อนเลือกตั้ง อบจ. 2568
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปี 2568 เป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญสำหรับประชาชนไทยในการร่วมกำหนดอนาคตของท้องถิ่นตัวเอง การเตรียมตัวอย่างถูกต้องจะช่วยให้การเลือกตั้งโปร่งใสและเป็นไปอย่างราบรื่น

รู้จักกันก่อนไปเลือก 

การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการที่รัฐบาลกระจายอำนาจให้ประชาชนในพื้นที่ ให้มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างรวดเร็วและตรงจุด โดยประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเลือกตัวแทน เช่น นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภา อบจ.

องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด มี 1 แห่งต่อ 1 จังหวัด แบ่งเป็นฝ่ายบริหาร (นายก อบจ.) และฝ่ายนิติบัญญัติ (สภา อบจ.) หน้าที่สำคัญ คือ ตราข้อบัญญัติที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย จัดทำและประสานแผนพัฒนาจังหวัด ส่งเสริมการศึกษา ดูแลศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น สนับสนุนความปลอดภัย การจราจร และความสงบเรียบร้อย

การเลือกตั้งนายก อบจ. จะใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกสภา อบจ. ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวนสมาชิกขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในจังหวัด (24–48 คน) ทั้ง นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

รู้จักกันแล้วค่อยไปเลือกตั้ง อบจ.  

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ประชาชนจะสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  • มีสัญชาติไทย แต่ถ้าแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง
  • และคุณสมบัติอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ขอบด้วยกฎหมาย
  • วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • มีลักษณะอื่นตามที่กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด

หลักฐานที่ใช้แสดงตนในการลงคะแนนเลือกตั้ง

  • บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้)
  • บัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน เช่น
    - บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ
    - ใบขับขี่
    - หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต)
    ฯลฯ
  • เปิดผ่านแอปพลิเคชัน แสดงหลักฐานแบบออนไลน์ ใช้ได้ 2 แอปพลิเคชัน คือ ThaID บัตรประชาชนดิจิทัล และ DLT QR Licence ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์

ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องดำเนินการเตรียมพร้อมก่อนไปใช้สิทธิ ดังนี้

1.ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

สามารถไปตรวจสอบรายชื่อก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ที่ศาลากลางจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 15 วัน ตรวจสอบรายชื่อจากเอกสารที่แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งมายังเจ้าบ้าน

2.การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ

ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน หากพบว่าตนเองหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของตน ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หรือเจ้าบ้านเห็นว่ามีชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตนโดยไม่ได้อาศัยอยู่จริง ให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเพื่อขอเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ พร้อมนำสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวอื่นใดที่ทางราชการออกให้ไปแสดงด้วย

แจ้งล่วงหน้า 7 วันเมื่อไปเลือกตั้งไม่ได้

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใดที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เนื่องจากมีเหตุอันสมควร ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง หรือภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้

  • มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  • เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  • เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  • มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  • ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  • มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
  • กรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้งเหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้

หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิกำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ดังนี้

  • สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.) หรือ
  • สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
  • สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  • เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.)
  • ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  • ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้
  • บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น

คนพิการ ทุพพลภาพ หรือ ผู้สูงอายุ ก็ลงคะแนนเลือกตั้งได้

กกต.ได้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของ กปน.

ในการช่วยเหลือดังกล่าว ต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเองตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพ ทำให้ไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือ กปน. เป็นผู้กระทำการแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ ให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ขั้นตอนการลงคะแนนเลือกตั้ง

  1. ตรวจสอบรายชื่อและลำดับที่จากบัญชีรายชื่อ ที่ประกาศไว้หน้าที่เลือกตั้ง
  2. ยื่นหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน (บัตรที่หมดอายุก็ใช้ได้) หรือ บัตรหรือหลักฐานที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐออกให้ที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน ต่อ กปน. พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
  3. รับบัตรเลือกตั้ง ลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ได้แก่ บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และบัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
  4. ทำเครื่องหมายกากบาท เข้าคูหาลงคะแนนทำเครื่องหมายกากบาท (X) ลงในช่องทำเครื่องหมาย ดังนี้
    •  บัตรเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครได้หนึ่งคน
    • บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ไม่เกินจำนวนสมาชิกที่แต่ละเขตเลือกตั้งนั้นพึงมี
    • หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครผู้ใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (X) ในช่องไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด แล้วพับบัตรเลือกตั้ง
  5. หย่อนบัตรเลือกตั้งด้วยตัวเอง นำบัตรเลือกตั้งที่พับเรียบร้อยแล้วหย่อนใส่ลงในหีบบัตรเลือกตั้งด้วยตนเอง

เวลาลงคะแนนเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.00 น.-17.00 น.

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

อ่านข่าวอื่น :

“พิธา”ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งอบจ.บ้านเกิด “ทักษิณ” ยันไม่มีนัยสำคัญ

“แพทองธาร” ลุยปราศรัยหาเสียง เลือกตั้ง นายก อบจ.นครพนม การเมือง 12 ม.ค. 68 09:49 256

"ธนาธร" ลง "ภูเก็ต" ช่วยผู้สมัครนายก อบจ. หาเสียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง