ไม่ล็อกดาวน์ กทม.-ป่วย COVID-19 กระจาย 61 จังหวัด

เศรษฐกิจ
31 มี.ค. 63
12:50
13,424
Logo Thai PBS
ไม่ล็อกดาวน์ กทม.-ป่วย COVID-19 กระจาย 61 จังหวัด
ไทยพบผู้ป่วย COVID-19 กระจายใน 61 จังหวัด วันนี้ (31 มี.ค.) มีผู้ป่วยเพิ่ม 127 คน รวมตัวเลขสะสม 1,651คน และเสียชีวิตรวม 10 คน ชี้ กทม.-นนทบุรี เป็นแหล่งรังโรคพบตัวเลขคนติดเชื้อเพิ่มหลักร้อย แต่ย้ำยังไม่ล็อกดาวน์ กทม.

วันนี้ (31 มี.ค.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ผู้ป่วยในไทย วันนี้ พบมีผู้ป่วยขึ้น 127 คน รวมตัวเลขสะสม 1,651 คน และเสียชีวิตรวม 10 คน ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คนเป็นชายไทย มีประวัติเป็นนักดนตรีที่ กทม. และได้กลับไปรักษาตัวที่โรง พยาบาลประจำจังหวัดในภาคอีสาน โดยมีโรคประจำตัว โดยเข้ารับการรักษา และเสียชีวิตวันนี้


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ยังถือว่าน่ากังวลพบว่ามีผู้ป่วยกระจาย 61 จังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว โดยพื้นที่กทม.ยังเป็นตัวเลขที่มีผู้ป่วยสูงสุด 869 คน จ.นนทบุรี 79 ภูเก็ต 56 คน เช่นเดียวกับตัวเลขพบผู้ป่วยจังหวัดรายใหม่ ที่ กรมควบคุมโรคได้นำข้อมูลมาให้เห็นแล้วยังกระจุกตัวที่กทม. และนนทบุรี

กทม.-นนทบุรี รังโรคเสี่ยงสุด

โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า แม้ว่า หลังจากวันที่ 26-27 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งครบช่วง 7 วันตัวเลขผู้ป่วย 3 วันนี้แม้จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ คือ 143 คน 136 คน และวันนี้ 127 คน ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ แต่มีแนวโน้มดีขึ้น แต่เนื่องจากเป็นปรากฎการณ์ของผู้ติดเชื้อที่เกดขึ้นก่อนการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หมายความว่าหลังจากนี้นับอีก 7 วันก็น่าจะมีผู้ป่วยอีก

กทม.และนนทบุรี ยังมากอยู่ แม้จะลดลงต่อเนื่องใน 2-3 วันนี้ แต่ก็ยังมีคนป่วยติดอันดับสูง ขณะที่กทม.มีประชากร 10 ล้านคน ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นรังโรคอยู่ จึงขอให้ช่วยกัน ส่วนต่างจังหวัดยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

วัยทำงานกลุ่มเสี่ยง-อายุเฉลี่ย 39 ปี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อที่เป็นคนไทย 1,407 สัญชาติอื่น 244 คน โดยกทม.มากสุด 869 คน ตะวันออกเฉียงเหนือ 77 เหนือ 55 กลาง 172 ใต้ 206 คน กลุ่มอายุยังคงเป็นวัยทำงาน 20-29 ปี หญิงมากกว่าชาย ถ้า 30-39 ปี ชายมากกว่าหญิง ถ้า 40-49 ปี ชายมากกว่าหญิง 50-59 ปี ชายมากกว่าหญิง อายุน้อยที่สุด 6 เดือน สูงสุด 84 ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ปี

ขณะที่ในจำนวน 127 คน ในวันนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน และเกี่ยวข้องกับสถานที่ผู้ป่วยยืนยัน สนามมวย 4 คนสถานบันเทิง 11 คน สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 47 คน กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่อื่นๆคนไทยกลับจากต่างประเทศ 17 คน คนต่างชาติมาจากต่างประเทศ 6 คน อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในที่แออัดหรือสัมผัสชาวต่างชาติ 9 คน บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข 3 คน ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ 6 คน อื่นๆ 8 คน และกลุ่มรอสอบสวนโรค 16 คน

กรณีหมอและบุคลากรทางการแพทย์ป่วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กำชับว่าเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งกรณี 3 คนนี้เชื่อมโยงโดยตรงกับการรักษาผู้ป่วย

นอกจากนี้ เมื่อเทียบผู้ป่วยเป็นรายสัปดาห์ เริ่มพบว่าคนป่วยจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อน จะเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง ดังนั้นหากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรกักตัวทันที ในส่วนของสนามมวย และสถานบันเทิง มีตัวเลขผู้ป่วยลดลง เพราะครบตามช่วงเวลาแสดงอาการ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ ส่วนคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขอให้กักตัวด้วย

ยังไม่ล็อกดาวน์กทม.-แต่ขอให้เข้มมาตรการ

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิปล์ ระบุอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้นำชุดข้อมูลสั่งการเมื่อสัปดาห์ก่อนมา โดยเฉพาะเรื่องการทบทวนพื้นที่เสี่ยงที่ต้องปิด และส่งสัญญาณไปแล้วโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้งดชกมวย กองถ่ายภาพยนตร์ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และถือเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงจึงต้องขอความร่วมมือ

ตอนนี้ยังไม่มีการสั่งล็อกดาวน์กทม.แต่ก็ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอาจมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการตามข้อมูลด้านสาธารณสุข หากทุกคนช่วยกันเพื่อให้ผู้ป่วยลดลงก็อาจจะไม่มีมาตรการเพิ่มเติม

 

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นำชุดข้อมูลที่นำเสนอไปใช้ในแต่ละพื้นที่ และมาตรการนั้นต้องคิดหลายชั้นว่าประชาชนจะรับผลกระทบ และมีการลดผลกระทบอย่างไรและคงไม่ได้ออกข้อกำหนดสั่งการ แต่ขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามพ่อเมืองของตัวเอง 

ส่วนการใช้งบกลางที่หลายคนกังวล นายกฯ เน้นว่าการจัดสรรงบกลาง ให้ใช้ในการเพิ่มค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ และการทำโรงพยาบาลสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ โดยสธ.รับดำเนินการ ซึ่งรวมถึงการปลดล็อกเรื่องเอกชนนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์

ส่วนกรณีนายจ้างและผู้ประกอบการเอกชนยังไม่ให้หยุดงานไมให้หยุดงาน รัฐบาลยังใช้มาตรการขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่ขอให้คำนึงว่า ความเสี่ยงติดเชื้อที่แต่ละคนนำมารวมกันที่ออฟฟิศ และนำมาติดนายจ้างหรือผู้ประกอบการ อาจไม่ใช่แค่การทำงานที่บ้าน แต่อาจจะป่วยจนต้องหยุดงานไปรักษาที่โรงพยาบาล หากประกาศให้ทำงานที่บ้านไม่ได้ก็อาจจะให้เหลื่อมเวลา หรือใช้มาตรการอื่นๆ แทนเพื่อลดการแออัด

นอกจากนี้นพ.ทวีศิลป์ ยังเตือนว่าวันพรุ่ง (1 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันโกหกโลกขอเตือนว่าอย่านำเอาประเด็นการติดเชื้อ COVID-19 มาโพสต์ล้อเล่น เพราะจะมีความผิดทางกฎหมาย

เปิดแผนที่จังหวัดผู้ป่วยมากสุด 

ผู้ป่วยกระจายทั่วประเทศ 61 จังหวัด 15 จังหวัดพบผู้ป่วยมากสุด (30 มี.ค.63) 

  • กทม. 795 คน
  • นนทบุรี 79 คน
  • ภูเก็ต 55 คน
  • ยะลา 48 คน
  • สมุทรปราการ 41 คน
  • ชลบุรี 40 คน
  • ปัตตานี 33 คน
  • สงขลา 30 คน
  • เชียงใหม่ 22 คน
  • ปทุมธานี 17 คน
  • อุบลราชธานี 13 คน
  • สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา 11 คน
  • บุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครปฐม 10 คน
  • กาญจนบุรี และ สมุทรสาคร 9 คน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ม.อ.ปัตตานี จัดหอพักให้ 57 นศ.ไทย กลับจากปากีสถานกักตัว

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง