วันนี้ (6 มิ.ย.2563) เฟซบุ๊กเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เผยแพร่ข้อความ ระบุว่า เชื่อว่าหลายคนคงชื่นชอบลิ้มลองเมนูพวกซูชิ ซาซิมิ กับวัตถุดิบอย่างปลาเงิน Japanese icefish หรือ Shirauo (シラウオ) ปลาตัวเล็กๆ สีขาวใสๆ วัตถุดิบฤดูใบไม้ผลิอันขึ้นชื่อของญี่ปุ่น ซึ่งมีรสชาติอร่อย อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันต่ำ แต่มีเรื่องที่อยากนำมาเล่าให้ฟัง แต่ก็ไม่อยากให้ตื่นตระหนกกันจนเกินไป เกี่ยวกับผู้ป่วย 2 คนติดพยาธิตัวจี๊ดหลังกิน Shirauo
Korekawa และคณะ (2019) ได้รายงานเคสผู้ป่วย 2 คน ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Dermatology ดังนี้
ผู้ป่วยรายที่ 1 เป็นหญิงอายุ 21 ปี มาโรงพยาบาลด้วยมีประวัติอาการคัน มีรอยเส้นบริเวณหน้าท้องด้านขวา แล้วมีรอยนูนเคลื่อนที่ หลังจากกินปลาเงินดิบเป็นจำนวนมากที่จับได้ที่ Hachirogata Lagoon ทางตอนเหนือของจังหวัดอาคิตะ แพทย์ทำ skin biopsy นำไปตรวจทางพยาธิวิทยา พบเม็ดเลือดขาว eosinophils และ lymphocytes จำนวนมาก
ภาพ : PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ขณะที่ผู้ป่วยรายที่ 2 เป็นชายอายุ 65 ปี มาด้วยอาการคันและอาการปวดเล็กน้อย มีรอยนูนเป็นเส้นบริเวณหน้าท้องด้านซ้าย และมีรอยนูนเคลื่อนที่ มีอาการมาเป็นเวลา 1 เดือนหลังจากกินปลาเงินดิบจำนวนมากที่จับได้ในบริเวณเดียวกันจากผู้ป่วยคนแรก ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยา ivermectin (12 มก./วัน) อาการดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยทั้ง 2 คนได้รับการวินิจฉัยว่า ติดพยาธิตัวจี๊ด Gnathostoma nipponicum จากการตรวจวิเคราะห์ทางชีวโมเลกุล ปกติพยาธิตัวจี๊ดเหล่านี้ ตัวอ่อนจะพบได้ในงู ปลาน้ำจืดหลายชนิด และกบ สำหรับปลาเงินนั้นจะเกิดและวางไข่ที่แม่น้ำ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในแม่น้ำ (น้ำจืด) และน้ำทะเล เป็นไปได้ที่ตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ดจะอาศัยอยู่ตามวงจรชีวิต ดังนั้นแล้วหากชื่นชอบอาหารดิบก็อาจจะเสี่ยงติดพยาธิชนิดนี้ได้ จำเป็นจะต้องแช่แข็งให้นานมากยิ่งขึ้น หรือทำให้สุกไปเลย
เอกสารอ้างอิง
- Korekawa A, et al. Two cases of cutaneous gnathostomiasis after eating raw Salangichthys microdon (icefish, shirauo). J Dermatol. 2019.