"ปริญญา" ชี้ช่องใช้หลักฐานใหม่รื้อคดี "บอส อยู่วิทยา"

อาชญากรรม
1 ส.ค. 63
16:15
31,334
Logo Thai PBS
"ปริญญา" ชี้ช่องใช้หลักฐานใหม่รื้อคดี "บอส อยู่วิทยา"
"ปริญญา" ชี้ช่องรื้อคำสั่งอัยการคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ยกข้อโต้แย้งความเร็วจากผู้เชี่ยวชาญเป็นหลักฐานใหม่ ขณะที่ประธานคณะทำงานอัยการฯ เผยมีหลักฐานใหม่ยื่นฟ้องคดีได้อีกมาก แต่ยังอยู่ในชั้นความลับ

วันนี้ (1 ส.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและอดีตอัยการสูงสุด มาร่วมเสวนาถึงทางออกของคดีนี้ว่าจะไปได้ในทิศทางใด

ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ปัญหาความสงสัยทางคดีในครั้งนี้ร้ายแรงมากที่สุด และเรียกร้องให้คดีนี้ต้องนำขึ้นพิจารณาในชั้นศาลให้ได้ รวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่คัดค้านความเห็นของอัยการได้อย่างไร

ขณะที่อัยการที่มีการสั่งให้สอบสวนพยานในคดีมาใหม่นั้น สามารถหักล้างพยานหลักฐานที่ตรวจพบในครั้งแรกได้จริงหรือไม่ เพราะการนำหลักฐานที่เปรียบเทียบกันในครั้งแรก กับที่มีการเผยแพร่กัน ยังไม่มีการอธิบายอย่างโปร่งใส

"ปริญญา" ชี้ช่องรื้อคดี

ขณะที่การพิจารณาจากความเห็นของพนักงานสอบสวนที่ทำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ต้องหาที่ 2 ในคดีนั้น จากการสอบสวนพยาน 2 คน ให้การว่า ด.ต.วิเชียร เปลี่ยนเลนกะทันหัน จนทำให้นายวรยุทธ อยู่วิทยา ผู้ที่ก่อเหตุชนแล้วลากผู้เสียชีวิตไป 200 เมตร เป็นเหตุสุดวิสัย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุนั้น

หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็จะแสดงให้เห็นว่า สำนวนชี้ไปว่า ด.ต.วิเชียร เป็นผู้ประมาทเอง จนทำให้อีกฝ่ายขับรถชน ก็ยิ่งส่งผลถึงที่อัยการไม่สั่งฟ้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต เพราะสำนวนชี้ไปว่านายวรยุทธ ไม่ได้ขับรถประมาท

กฎหมายที่ระบุว่า หากมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องแล้ว ไม่สามารถฟ้องคดีใหม่ได้จนกว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ หรือญาติผู้เสียหายฟ้องเอง และขณะนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้อาจจะฟ้องคดีไม่ได้

ผศ.ปริญญา เห็นว่า "คดีนี้ยังมีพยานหลักฐานใหม่ โดยเฉพาะการวัดความเร็วของรถที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาแสดงความคิดเห็น อยากให้เชิญทุกคนมาร่วมเสนอความเห็นและหลักการวัดทางวิทยาศาสตร์ให้สิ้นสงสัย"

ส่วนเรื่องการพบสารเสพติดชนิดโคเคนในร่างกายนั้น หากตามกฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 95 การเสพยาเสพติดประเภทที่ 2 มีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี ยังมีอายุความ 10 ปี ทำให้ข้อหานี้ยังสามารถแจ้งกับผู้ต้องหาได้ แต่จะต้องดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวนที่ไม่สั่งฟ้องคดีตั้งแต่แรกหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบที่ดุลยพินิจในตอนแรกประกอบ

ส่วนนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจดูแลควบคุมการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งทบทวนได้ หากพบว่าการไม่คัดค้านการสั่งไม่ฟ้องอัยการของตำรวจในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วและสามารถคาดหวังได้ เพราะมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย ทั้งหมดนี้จึงถือว่าเป็นหลักฐานใหม่ทางคดีที่น่าจะนำมาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาใหม่ได้

สอบคำสั่งอัยการยึดหลักกฎหมาย

ขณะที่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการที่ตรวจสอบสำนวนคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ยืนยันว่า กฎหมายวิธีการพิจารณาความอาญาของประเทศไทย ถือว่าดีที่สุดในโลก เพราะมีการเปิดโอกาสให้คานอำนาจกันระหว่างอัยการ ตำรวจ และผู้เสียหายในคดีนั้นได้ ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่อัยการมีสิทธิเด็ดขาดในการสั่งฟ้องคดี และการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมทางคดีก็เปิดโอกาสให้ทั้งผู้เสียหายและผู้ต้องหายื่นได้ตลอด หากพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมทางคดี

ในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ หลังจากเกิดเรื่องดังกล่าว ก็ได้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดให้เร่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวทันที โดยมีผู้เชี่ยวชาญของอัยการเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการ 7 คน และกำหนดให้สอบสวนอัยการ และหน่วยที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ รวมทั้งให้ชี้แจงกับประชาชนเป็นระยะ และจัดแถลงข่าวตอบข้อซักถามและคลายข้อสงสัยให้ได้ ซึ่งมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคมนี้ ขณะเดียวกันมีคำสั่งในรายงานคดีนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการอัยการที่จะประชุมในวันที่ 18 สิงหาคมนี้ด้วย

โดยการตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมาต้องการให้พิจารณาตามข้อกฎหมายของอัยการผู้สั่งคดี ว่าใช้ดุลยพินิจในการสั่งคดีตามข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งโดยส่วนตัวมีคำตอบในใจแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และยืนยันว่าอัยการไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับอัยการผู้สั่งคดีด้วยว่าเป็นการใช้กุลยพินิจอย่างรอบคอบหรือไม่ ซึ่งหากมีความผิดจริงต้องถูกลงโทษอยู่แล้ว

อดีต อสส. เชื่อมีหลักฐานใหม่รื้อคดีได้

ส่วนกรณีที่ ผศ.ปริญญา ระบุว่าหลักฐานใหม่ในคดีตามที่มีผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความเร็ว ที่อาจนำไปสู่การดำเนินคดีใหม่ได้นั้น นายอรรถพล กล่าวว่า "ส่วนตัวเห็นว่ามีหลักฐานใหม่ที่จะดำเนินคดีนี้ได้อีกมาก แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะอาจจะเป็นการชี้นำ เนื่องจากอยู่ในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ"

ทั้งนี้ระบบกฎหมายของไทย แม้จะเป็นระบบที่ดีที่สุดของโลก แต่ในทางปฏิบัติก็อาจเอนเอียงได้ หากผู้สั่งคดีทำไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม แม้คดีนี้จะอาศัยประจักษ์พยานที่เชื่อถือได้สรุปคดี แต่ภายหลังมีหลักฐานจากนิติวิทยาศาสตร์ ทำให้หลายประเด็นมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากขึ้น จึงถือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่สุดในคดีนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง