ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชี้ปรากฎการณ์ "ลุงพล" จำเป็นต้องมีสื่อปลอดภัยฯ

สังคม
10 ก.ย. 63
15:20
620
Logo Thai PBS
ชี้ปรากฎการณ์ "ลุงพล" จำเป็นต้องมีสื่อปลอดภัยฯ
ผจก.กองทุนสื่อฯ ชี้ปรากฎการณ์ "ลุงพล" ตอกย้ำความจำเป็นต้องมีสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมแนะปฏิรูปสื่อควบคู่กันไป เพื่อให้มีสื่อที่ดีในสังคม

วันนี้ (10 ก.ย.2563) นายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวถึง ปรากฏการณ์ของสื่อในการเสนอข่าว “ลุงพล" หรือ นายไชย์พล วิภา จากการตกเป็นผู้ต้องสงสัยกลายมาเป็นคนดังแห่ง บ้านกกกอก ล่าสุดมีกระแสตีกลับจนทำให้เกิดแฮชแทค "แบนลุงพล" ขึ้นอันดับหนึ่งบนโลกออนไลน์

นายธนกรมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ของสื่อ ที่มองจากหลักคิดพื้นฐานจะเห็นว่า ผู้ประกอบการจะยึดเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อสื่อเป็นธุรกิจการทำรายการที่มีคนติดตามจำนวนมาก มีการวัดกันที่เรตติ้ง เพื่อสร้างรายได้ผ่านทางโฆษณา รายได้จึงถือเป็นปัจจัยชี้ขาดในแง่ของการประกอบการทางธุรกิจ

ส่วนในแง่ของคนทำงานสื่อ ต้องยอมรับว่า อยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ย้อนแย้ง ส่วนหนึ่งคือการที่ทำงานเพื่อให้องค์กรเดินไปข้างหน้าได้ และสร้างรายได้ อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของคนทำงาน และเรื่องของเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องยากมาก

เพราะฉะนั้นความอึดอัดของบุคลากรในองค์กรสื่อความจริงมีมาโดยตลอด เราจึงต้องมองอย่างเข้าใจว่า ถ้าองค์กรธุรกิจ มีเป้าหมายคือ การทำกำไร ส่วนบุคลากรด้านสื่อเอง ก็ต้องบริหารจัดการระหว่างจุดยืนการเป็นสื่อมวลชนที่ดี กับจุดยืนขององค์กร ซึ่งบางทีเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยเชื่อว่า การทำสื่อที่ดีจำเป็นต้องสร้าง แต่หากปล่อยให้สื่ออยู่ในระบบธุรกิจความคาดหวังที่จะมีสื่อสร้างสรรค์อาจเป็นไปได้ยากและเกิดปัญหา

สื่อดีบางทีก็ไม่ดัง สื่อดังบางทีก็ไม่ดี ดังแล้วก็มีคนได้ประโยชน์ เป็นห่วงโซ่ วันนี้ต้องตั้งหลักให้ดีและคิดว่าการมีกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเป็นโอกาสของสังคม

นายธนกรกล่าวว่า งบประมาณของกองทุนฯ ปีละ 2-3 ร้อยล้าน มองว่าอาจน้อยถ้าเทียบกับความตั้งใจของคนที่จะเข้ามาทำสื่อสร้างสรรค์และเข้ามาขอทุน ซึ่งในหลักการมองว่า กองทุนสำหรับคนที่จะตั้งใจเข้ามาทำงานเพื่อพัฒนาสื่อดีๆ

ส่วนที่หลายคนอยากให้ทาง กสทช.มีการเข้มงวดและกำกับการดำเนินการของสื่อผ่านการใช้กฎหมาย เรื่องนี้ยากมาก เพราะบางเรื่องอาจจะไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ถูกจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องว่าง ซึ่งหลายกรณีทาง กสทช.มีการกำกับดูแลเนื้อหารายการต่างๆ มีการเชิญมาทำความเข้าใจ เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของคนในสังคม

วันนี้เรื่องของการปฏิรูปสื่อ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มต้นในการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจัง โดยมองว่าควรจะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งการใช้มาตรการทางสังคมในการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ดี

หากกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ หรืออาจจะใช้การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล ชี้นำสังคมให้เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง นำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกหรือมุ่งแต่ผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญและช่วยกันรณรงค์ทางสังคม ซึ่งมองว่ามาตรการทางกฎหมาย เพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวด้วยว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนสำคัญ คือการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง การให้ประชาชนเป็นผู้ชม ผู้ฟัง ผู้ดู ผู้เสพสื่อที่ดีและอีกด้านหนึ่งอยากให้มาช่วยกันในการสร้างสื่อที่ดีๆซึ่งมีหลายเรื่อง อาทิ เรื่องราวในท้องถิ่น เรื่องวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชน มองว่ายังเป็นเรื่องที่สร้างคุณค่าและสร้างมูลค่าไปพร้อมกันได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง