วันนี้ (18 ก.ย.2563) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงกรณีนายหมัด มะมิน ล่ามของสำนักแรงงาน ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย อายุ 54 ปี เสียชีวิต โดยระบุว่า ผู้ป่วยตรวจพบติดเชื้อ COVID-19 ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ขณะนั้นกรมการแพทย์ได้ให้แนะนำผ่านไลน์กลุ่มว่า ถ้าอาการหนักขึ้นให้ไปโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 26 ก.ค. ผู้ป่วยเริ่มมีอาการหายใจไม่ทั่วท้อง มีไข้ ไอ จึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล King Fahad Meducal City ในวันที่ 31 ก.ค. ก่อนเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู ทีมแพทย์ได้ปั๊มหัวใจ และใส่ท่อช่วยหายใจ โดยมีอาการปอดอักเสบ ร่วมกับภาวะวิกฤตทางระบบการหายใจ
สำหรับการตรวจเชื้อ COVID-19 พบผลตรวจเป็นบวกในวันที่ 21 ก.ค. และ 5 ส.ค. ต่อมาก่อนกลับประเทศไทยได้ตรวจหาเชื้ออีก 2 ครั้งในวันที่ 25 ส.ค. และ 30 ส.ค. ผลเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง ญาติจึงประสานขอให้นำผู้ป่วยกลับบ้าน ซึ่งเดินทางด้วย Air Ambulance กลับประเทศไทยวันที่ 1 ก.ย. โดยถอดท่อช่วยหายใจ ใช้เวลา 10 ชั่วโมง ถึงประเทศไทย วันที่ 2 ก.ย. เวลา 01.36 น. โรงพยาบาลราชวิถีได้จัดทีมรับโดยใช้ Air ambulance เช่นกัน วันที่ 3 ก.ย. ผู้ป่วยก็เริ่มมีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้น ทีมแพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจ อีกครั้งและได้ให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ ที่ผ่านมาก็มีอาการทรงๆ ทรุดๆ มาโดยตลอด
แม้จะตรวจแล้วผลตรวจเป็นลบ แพทย์ซาอุฯ ไม่ได้ให้ยาต้าน COVID-19 พอมาที่ไทยก็ไม่พบเชื้อ สาเหตุการตายหลักไม่ใช่ COVID-19 แต่ทางระบาดวิทยา คนไข้รักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาล 54 วัน ถือว่าอยู่ระหว่างการรักษาครั้งแรกจากโรค COVID-19 ทางสถิติดูเหมือนว่าจะนับเป็นรายที่ 59 แต่ต้องรอผู้เชี่ยวชาญหารืออีกครั้ง
ปอดอักเสบจากแบคทีเรียดื้อยา - โรคแทรกซ้อน เหตุเสียชีวิต
ด้าน ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร โรงพยาบาลรวิถี ระบุว่า ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบต่อเนื่องจาก ก่อนส่งตัวมาถึงประเทศไทย แม้จะดีขึ้นจาก COVID-19 แต่มีการติดเชื้อปอดอักเสบจากแบคทีเรียดื้อยา โรงพยาบาลราชวิถีได้ให้ยารักษาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังพบความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจและปอด โดยปอดด้านขวายังมีเงาทึบอยู่ ส่วนหนึ่งแป็นผลมาจากภาวะอักเสบในปอด (ARDS) อย่างรุนแรงจาก COVID-19 ทำให้หายใจลำบาก หลังเข้ารับการรักษาไม่ถึง 10 ชั่วโมง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจใหม่ เพราะหายใจเองไม่ไหว ผู้ป่วยยังมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิดด้วย
ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น 1 ครั้ง ช่วงรักษาที่ซาอุดีอาระเบีย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบาดเจ็บ เมื่อดูแลต่อเนื่องถึงไทย ตรวจคลื่นหัวใจพบว่า คลื่นหัวใจผิดปกติอยู่ มีความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดปกติและหยุดเต้นได้ คลื่นหัวใจของผู้ป่วยผิดปกติต่อเนื่องจนถึงวันสุดท้ายก่อนเสียชีวิต เป็นอุปสรรคในการให้ยา COVID-19 เนื่องจากไม่สามารถให้ยาที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจได้
ผู้ป่วยยังมีโรคประจำตัวทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดขึ้นๆ ลงๆ 100-140 ทำให้ยุ่งยากในการควบคุม หากควบคุมไม่ดี จนเกิดการติดเชื้อซ้ำก็จะยิ่งควบคุมและรักษาได้ยากขึ้น ส่วนเชื้อดื้อยา มีการติดเชื้อซ้ำต่อเนื่องระหว่างรับการรักษา ต้องให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด และเพิ่มยาควบคุมความดันเลือด เนื่องจากมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ปอดอักเสบต่อเนื่อง ภาวะ ARDS ซ้ำอีก ร่วมกับอวัยวะอื่นๆ ทำงานล้มเหลว มีปัญหาเรื่องระบบเลือด มีภาวะไตวาย ปัจจัยหลายอย่างร่วมกันทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายนี้ถือเป็นผู้ป่วยคนที่ 3,430 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยทีมระบาดวิทยาสอบสวนโรค พบประวัติติดเชื้อ COVID-19 ที่ซาอุดีอาระเบีย ส่วนกระบวนการนำผู้ป่วยกลับไทย เดินทางด้วยเครื่องบิน Air Ambulance มีระบบป้องกันการติดเชื้อ แพทย์และพยาบาลก็ไม่ได้เข้าไทย เมื่อส่งผู้ป่วยแล้วเสร็จก็เดินทางกลับทันที ถือว่าส่งผู้ป่วยได้มาตรฐาน ป้องกันการติดเชื้อ ไม่พบผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเพิ่มเติม