วันนี้ (25 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึง กรณีศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตพระพรหมดิลก อดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา ในความผิดฐานฟอกเงิน โดยระบุว่า คดีเงินทอนวัดที่อดีตพระพรหมดิลกตกเป็นจำเลย เป็นคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องกรณีทุจริตงบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา แบ่งออกเป็น 3 คดี คือ 1.คดีความผิดมูลฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2563 ว่าอดีตพระพรหมดิลกมีความผิดฐานสนับสนุนให้เกิดการทุจริต มีโทษจำคุก 8 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 1 ปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี และยังไม่ชัดเจนว่ามีการยื่นอุทธรณ์ด้วยหรือไม่
2.คดีอาญาฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2562 ว่าอดีตพระพรหมดิลกมีความผิด ให้จำคุก 6 ปี แต่ล่าสุดศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา สรุปว่าจำเลยไม่รู้ว่าเป็นเงินที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับ จึงขาดเจตนา ไม่มีความผิดฐานฟอกเงิน ให้ยกฟ้อง และ 3.คดีแพ่ง ฐานฟอกเงิน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เงินในบัญชีเงินฝากของอดีตพระพรหมดิลก เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงให้ตกเป็นของแผ่นดิน 1.7 ล้านบาท
พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ อดีต ผอ.พศ.
นอกจากนี้ยังเห็นว่า หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา มีประเด็นที่ต้องพิจารณาหลายประเด็น ประเด็นแรก อดีตพระพรหมดิลกขาดจากความเป็นพระหรือไม่ เรื่องนี้เมื่อตรวจสอบย้อนหลังไปในชั้นสอบสวน จำเลยถูกจับกุมและศาลมีคำสั่งให้ขัง ไม่อนุญาตให้ประกันตัว จึงถูกเจ้าพนักงานใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ มาตรา 30 ให้สละสมณเพศก่อนเข้าเรือนจำ ทำให้ขาดจากความเป็นพระแล้วตามกฎหมาย
ประเด็นที่ 2 อดีตพระพรหมดิลกกลับมาห่มจีวรได้ทันทีเลยหรือไม่ ประเด็นนี้อธิบายได้ว่า ไม่สามารถกลับมาห่มจีวรได้ เพราะถือว่าขาดจากความเป็นพระไปแล้ว หากจะห่มจีวร ต้องกลับมาบวชใหม่ โดยมีพระอุปัชฌาย์ แต่หากไม่มีการบวชใหม่แล้วไปห่มจีวร ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 208 ว่าด้วยการแต่งกายเลียนแบบสงฆ์
ประเด็นที่ 3 อดีตพระพรหมดิลกกลับมาบวชใหม่ได้หรือไม่ คำตอบคือ ยังเข้าบรรพชาหรืออุปสมบทไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามกฎมหาเถรสมาคม เนื่องจากอดีตพระพรหมดิลกยังต้องคดีอาญาอยู่และคดียังไม่ถึงที่สุด แม้คดีฟอกเงินในศาลอุทธรณ์ ศาลจะยกฟ้อง แต่อัยการยังมีสิทธิ์ฎีกา ขณะที่คดีทุจริตก็ยังไม่พ้นระยะเวลารอลงอาญา
ที่สำคัญการรอลงอาญาแปลว่ามีความผิดและมีโทษ เพียงแต่โทษยังไม่ต้องรับทันทีเท่านั้น และที่ต้องไม่ลืมก็คือคดีแพ่งที่ศาลสั่งริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่มีข้อพิจารณาว่าการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบเข้าข่ายปาราชิกหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ไม่สามารถกับมาบวชได้อีก ซึ่งประเด็นนี้ขึ้นกับการวินิจฉัยของฝ่ายสงฆ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องอดีตเจ้าอาวาสวัดสามพระยา คดีเงินทอนวัด
จำคุก 6 ปี "อดีตพระพรหมดิลก" คดีฟอกเงินทุจริตเงินทอนวัด
จำคุก 8 เดือน "อดีตพระพรหมดิลก" คดีทุจริตงบฯ พศ.