FinCEN หรือ Financial Crimes Enforcement Network คือหน่วยงานในกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมต้องสงสัยด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
สำนักข่าวออนไลน์ Buzzfeed News และ เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) ได้เผยแพร่ข้อมูลจากเอกสารมากกว่า 2,000 ฉบับที่เกิดในช่วงปี 2543-2560 รวมมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่อยู่ใน 7 ปีหลัง ว่ากันว่าจำนวนที่หลุดมานี้คิดเป็นเพียง 0.02% ที่ธนาคารต่างๆ ส่งให้ FinCEN
ภาพรวมทั่วโลก


ICIJ ปล่อยไฟล์ข้อมูลเพียงบางส่วนจากทั้งหมดที่รั่วไหลออกมา เป็นข้อมูลธุรกรรมใน 131 ประเทศ มูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์
เงินส่วนใหญ่ไหลเวียนอยู่ในยุโรป เช่น รัสเซีย ลัตเวีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอแลนด์ สหราชอาณาจักร โดยเฉพาะประเทศสมาชิกกลุ่ม EU ส่วนในเอเชียหมุนเวียนในสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ขณะที่ทวีปอเมริกามีสหรัฐอเมริกาและหมู่เกาะเคย์แมนเป็นฐานโยกย้ายเงิน


ธนาคารชั้นนำที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายเงินต้องสงสัยส่วนใหญ่คือธนาคารในสหรัฐอเมริกา 14 แห่ง จาก 26 แห่ง โดยเงินไหลเวียนจากธนาคารของ The Bank of New York Mellon Corp. มากที่สุด


เงินไหลผ่านไทย
ระดับอาเซียนมีเงินไหลเวียนผ่าน 8 ประเทศ สิงคโปร์คือประเทศที่มีจำนวนธุรกรรมและมูลค่าเงินมากที่สุด ขณะที่ไทยอยู่อันดับ 5
ในส่วนของประเทศไทย มีธุรกรรมเกิดขึ้น 92 ครั้งในปี 2555-2559 รวมมูลค่า 41 ล้านดอลลาร์ หากคิดเป็นเงินบาทไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของช่วงเวลาที่เกิดแต่ละธุรกรรมจะเท่ากับ 1.3 พันล้านบาท

แบ่งเป็นเงินที่รับเข้ามา 9 ล้านดอลลาร์ (3 ร้อยล้านบาท) เป็นเงินที่ส่งออกไป 31 ล้านดอลลาร์ (1 พันล้านบาท) หมายความว่ามีเงินต้องสงสัยในประเทศเติมเข้าไปอีก 22 ล้านดอลลาร์ (เกือบ 8 ร้อยล้านบาท) ที่ไม่ทราบว่ามีที่มาจากกิจกรรมใด
ธุรกรรมเหล่านี้ทำผ่านธนาคาร 4 แห่ง เรียงลำดับตามมูลค่ามากที่สุด ได้แก่ ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.เพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และ ธ.กรุงไทย โดย 2 ธนาคารแรกส่งเงินต่อไปยัง CIMB และ DNB ในสิงคโปร์ อันเป็นฐานโยกย้ายเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้