วันนี้ (13 ต.ค.2563) นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า หลังจากพบปัญหาหญ้าทะเลบริเวณอ่าวทุ่งจีน อ.กันตัง จ.ตรัง เปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มเน่าตายเป็นบริ เวณกว้าง สาเหตุอาจมาจากตะกอนดินที่มาทับถม ทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ร่วมกันเรียกร้องให้กรมเจ้าท่าแก้ปัญหาที่เกิดขึ้่น เพราะกังวลว่าจะทำให้กระทบต่อแหล่งอาหารของพะยูน
ทั้งนี้จากการประชุมร่วมของตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า ผู้ประสานงานมูลนิธิอันดามัน เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และตัวแทนบริษัท แสงเจริญมารีนเซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาขุดลอกร่องน้ำกันตัง ประชุมร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาการตายของหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง
มีมติให้กรมเจ้าท่า ประสานงานกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงหาจุดทิ้งตะกอนที่เหมาะสมบนฝั่ง ประสานกับชุมชนมดตะนอย เกาะลิบง บ้านทรายขาว เพื่อนำทรายกับหินไปช่วยเติมในพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งโดยจะทำการศึกษาผลกระทบอย่างถี่ถ้วน
สำหรับโคลน กรมเจ้าท่ากับบริษัทรับเหมา จะไปศึกษาจุดทิ้งตามข้อเสนอของที่ประชุม คือห่างจากจุดเดิมออกไปในทะเล ระยะทาง 12-13 กิโลเมตร จากจุดทิ้งเดิม และห่างจากเกาะลิบงประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งต้องมีการศึกษาและสำรวจพื้นที่เหมาะสมอีกครั้ง
ศึกษาตะกอน-ขุดทิ้งบนฝั่งห้ามทิ้งในทะเล
นอกจากนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพะยูนและหญ้าทะเล และลงพื้นที่จัดเวที ประชุมชี้แจงรับฟังความเห็นของชุมชนบนเกาะลิบง วางแผนอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ควบคู่กับการศึกษาปริมาณตะกอน และคุณภาพน้ำบริเวณดังกล่าว
สำหรับการขุดลอกร่องน้ำในปีงบประมาณ 2564 เสนอให้กรมเจ้าท่าดำเนินการขุดลอกในแหล่งที่เป็นหินเป็นหลัก และให้นำขึ้นมาทิ้งบนฝั่งทั้งหมด
ทั้งนี้ สำหรับจุดทิ้งตะกอนดินตามโครงการของกรมเจ้าท่า ตั้งแต่ปี 2560 อยู่นอกเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ห่างจากแนวเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ประมาณ 5 กิโลเมตร และจุดขุดลอกตะกอนดินอยู่ในแม่น้ำตรัง บริเวณตั้งแต่ท่าเรือกันตังมาตลอดแม่น้ำตรังจนออก ปากแม่น้ำตรัง ในปีงบประมาณ 2563 กรมเจ้าท่า แจ้งว่าโครงการขุดลอกเสร็จสิ้นแล้ว และแจ้งว่าได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาผลกระทบตั้งแต่ก่อนดำเนินการขุดลอก และระหว่างขุดลอก และหลังจากขุดลอกเสร็จสิ้น เพื่อเป็นข้อมูลนำมาบริหารจัดการในการดำเนินการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
กังขา! ขุดลอกร่องน้ำอ่าวกันตังกระทบหญ้าทะเลตาย 1,000 ไร่