วันนี้ (19 ม.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงแก้ไข ตามที่นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรี เสนอ และเตรียมส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ มีการปรับโครงสร้างเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตำรวจ โดยเฉพาะการกำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจ อาทิ ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ และตำรวจจราจร ไปให้แก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรง
พร้อมจัดระเบียบส่วนราชการ ทั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค กองบังคับการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรจังหวัด และสถานีตำรวจ พร้อมแบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่ม คืองานบริหาร งานอำนวยและสนับสนุน งานสอบสวน งานป้องกันและปราบปราม และงานวิชาชีพเฉพาะ
สำหรับคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน - ร้องทุกข์ กำหนดให้ตั้ง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. โดยนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง และมีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. เป็นฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเห็นชอบให้ตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน - สอบสวน - ป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รวมไปถึงการพิจารณาอัตรากำลังและเงินเดือนให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
และแม้ว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และส่งให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนนำไปพิจารณาเพื่อกำหนดวันประชุมอีกครั้ง แต่หากดูไทม์ไลน์ของสภาฯ ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ และเปิดให้มีการอภิปรายฯ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หรือวันที่ 16-19 ก.พ. รวมเป็นเวลา 4 วัน และกำหนดวันลงมติ วันที่ 20 ก.พ.
หลังจากนั้น วันที่ 24-25 ก.พ.นี้ จะประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 2 จากนั้นปิดสมัยประชุมสภาฯ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และคาดว่ากลางเดือน มี.ค. จะเปิดสภาฯสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาลงมติร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 รวมถึงพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จึงไม่ชัดเจนว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ จะได้รับการพิจารณาในช่วงเวลาใด