ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2564

สังคม
25 พ.ค. 64
15:27
10,412
Logo Thai PBS
สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา 2564
สมเด็จพระสังฆราช ประทานคติธรรม “วันวิสาขบูชา” ให้ตระหนักว่าทุกคนล้วนเป็นผู้กำหนดชีวิตตนเอง หาใช่เพราะการดลบันดาลของพรหม เทพ หรือชะตาฟ้าดินแต่อย่างใด แนะฝึกฝนตนเองให้มั่นคงในทุกย่างก้าว หมั่นพัฒนาสติ ให้เท่าทันการเคลื่อนไหว

วันนี้ (25 พ.ค.2564) เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา วันที่ 26 พ.ค.2564 ความว่า ดิถีวิสาขบูชา อันเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นวันสำคัญสากลของโลก ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ชวนให้ระลึกถึงเหตุการณ์

เมื่อพระโพธิสัตว์สิทธัตถราชกุมารเสด็จอุบัติขึ้นบนโลกนี้ ดังปรากฏเรื่องราวในพระไตรปิฎกว่า พระองค์ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศอุดร ทอดพระเนตรทิศทั้งหลาย ทรงพระดำเนินย่างพระบาทไปเจ็ดก้าว แล้วทรงเปล่งพระอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เราคือผู้เป็นใหญ่แห่งโลก” ดังนี้

อุปมาดั่งการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ ให้ต่างตระหนักว่าเราทุกคนล้วนเป็นผู้กำหนดชีวิตของตนเอง สามารถพัฒนาตนให้ประเสริฐ ให้พ้นทุกข์ ให้มีชีวิตที่ดีงามสมบูรณ์ ถึงขั้นจะรู้แจ้งสัจธรรมเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้ โดยหาใช่เพราะการดลบันดาลของพรหม เทพ หรือชะตาฟ้าดินแต่อย่างใด

พุทธบริษัททั้งหลาย จึงพึงพิจารณาถึงย่างก้าวแห่งธรรมะ 7 ประการ อันนำไปสู่การตรัสรู้ ซึ่งเรียกว่า “โพชฌงค์ 7” ประกอบด้วย สติ ความระลึกได้, ธรรมวิจยะ การศึกษาสอดส่องธรรมะ, วิริยะ ความพากเพียร, ปีติ ความเอิบอิ่มใจโดยปราศจากอามิส, ปัสสัทธิ ความสงบกายใจ, สมาธิ ความมีจิตตั้งมั่น และ อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง

อย่างไรก็ดี ก่อนจะย่างไปให้ครบทั้ง 7 ก้าว สู่ความเป็นเลิศในโลกนั้น มนุษย์ผู้ปรารถนาอิสรภาพ จำเป็นต้องเริ่มต้นฝึกฝนตนเองให้มั่นคงในย่างก้าวสำคัญก้าวแรกแห่งการพัฒนา ได้แก่ “สติ” กล่าวคือ ให้รู้เท่าทันในการเคลื่อนไหว ในอารมณ์ที่ปรุงแต่งจิต และในความคิดทั้งหลายให้ได้

หากปราศจากสติเสียแล้ว องค์ธรรมแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับมนุษยชาติประการอื่น ๆ ย่อมไม่อาจจะติดตามมาได้เลย ขอสาธุชนจงมุ่งมั่นหมั่นศึกษาอบรมเจริญสติ ให้รู้เท่าทันกาย วาจา และใจของตนเอง อันนับเป็น “ปฏิบัติบูชา” ที่พึงกระทำต่อพระรัตนตรัย เพื่อความดำรงมั่นแห่งพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นประทีปส่องใจเวไนยนิกรทั้งปวงสืบไปตลอดกาลนาน เทอญ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง