ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เซี่ยงไฮ้เตรียมผลิต “เนื้อหมูห้องแล็บ” สร้างจากเซลล์-พิมพ์ 3 มิติ

Logo Thai PBS
เซี่ยงไฮ้เตรียมผลิต “เนื้อหมูห้องแล็บ” สร้างจากเซลล์-พิมพ์ 3 มิติ
บริษัทสตาร์ตอัป ในนครเซี่ยงไฮ้ ทดลองผลิตเนื้อหมูจากห้องแล็บ สร้างจากเซลล์เนื้อเยื่อและเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ

เนื้อหมูที่ดีและมีคุณภาพอาจไม่ได้มาจากฟาร์มเพียงอย่างเดียว บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในนครเซี่ยงไฮ้ได้ทดลองผลิตเนื้อหมูจากห้องแล็บ โดยสร้างจากเซลล์เนื้อเยื่อและเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ และคาดว่าเนื้อหมูจะมีคุณภาพและราคาที่เทียบเท่าเนื้อหมูจริงในปี 2025

ต้องยอมรับว่านอกจากมลพิษที่มาจากเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ภาวะโลกร้อน เพราะกระบวนการที่เกิดจากการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อบริโภค ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงขั้นตอนการบริโภค ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนำมาสู่ความพยายามในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น การผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยแก้ปัญหา

CellX เป็นบริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ได้ทำการทดลองผลิตเนื้อหมูจากในห้องแล็บ ด้วยการใช้เซลล์ของหมูดำพันธุ์พื้นเมือง เมื่อเซลล์ที่นำมาเลี้ยงมีความสมบูรณ์เต็มที่ ทีมวิจัยจะใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ภาพ 3 มิติมาช่วยในการขึ้นรูปชิ้นเนื้อ แล้วแต่งเติมรสชาติด้วยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์การอาหาร

แม้ว่ารสชาติของเนื้อหมูที่ได้จะยังไม่ถูกปากมากนัก แต่ผู้ผลิตก็มั่นใจว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพเทียบเท่าเนื้อหมูจริง และอาจจะมีราคาที่เท่ากันภายในปี 2025 นอกจากนี้ การผลิตเนื้อหมูในห้องแล็บยังช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 5 เท่า อาจมากถึง 10 เท่าภายในปีหน้า

การผลิตเนื้อหมูในห้องแล็บจากเซลล์ ไม่เพียงเป็นการสร้างอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค แต่ยังเป็นการสร้างอาหารที่เป็นโปรตีนทางเลือก และยังช่วยแก้ปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อนได้ด้วย เพราะการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องแล็บนั้นไม่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ถึงแม้ว่าการผลิตเนื้อหมูจะมีข้อดีอยู่มาก แต่ความต้องการของผู้บริโภคยังคงไม่แน่นอน เพราะอัตราการผลิตที่ไม่มากพอ จึงยังไม่เพียงพอสำหรับผู้บริโภค และรสชาติอาจยังไม่ถูกปากเมื่อเทียบกับรสชาติของเนื้อหมูจริง

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง