วันนี้ (2 พ.ย.2564) ศาลฎีกาสั่งประทับรับฟ้อง นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กับพวกรวม 87 คน คดีทุจริตสนามฟุตซอลโคราช ทำให้นายวิรัชต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 11 (วิ.อม.) ส่วนภรรยาและน้องภรรยาก็ถูกสั่งฟ้องเช่นเดียวกัน
นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ของวงการการศึกษาไทยอีกครั้ง เมื่อครู ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 65 คน จาก 56 โรงเรียน ได้สิ้นสุดสถานภาพความเป็นครูทันที หลังจาก สพฐ.มีคำสั่งไล่ออก ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2564
หลังจากคดีนี้ยืดเยื้อมานาน 9 ตั้งแต่ปี 2555 มีโครงการสร้างสนามฟุตซอล 17 จังหวัดมูลค่ากว่า 4000 ล้านบาท ชีวิตของครูหลายคนเปลี่ยนไป ไม่มีความสุขเพราะต้องเดินหน้าเพื่อต่อสู้ขอความเป็นธรรม เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นครู หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดข้อหาร่วมกันฮั้วประมูลสร้างสนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐาน
วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 3 จำนวน 3 คน เดินทางไปรับคำสั่งทางปกครองไล่ออกจากราชการ
นายไพทูรย์ อักษรครบุรี อดีต ผอ.โรงเรียนชุมชนบ้านนารากอรพิมพ์ สวมชุดข้าราชการครูเป็นวันสุดท้าย ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการ 10 เดือน เพื่อนครูต่างเดินทางมาให้กำลังใจอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนทั้ง 3 คน หลังจากทราบข่าวว่า ได้รับคำสั่งทางปกครอง และต้องยุติอาชีพครูตั้งแต่วันที่รับหนังสือ
แม้ว่าจะเดินทางมารับคำสั่งไล่ออก แต่ครูทั้งหมดยืนยันจะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ก.ค.ศ.เพราะคำสั่งไล่ออกไม่ชอบธรรม เพราะ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเป็นการลงโทษแบบเหมาเข่ง
“กรรมการเป่านกหวีด พยายามไล่ผมออกจากสนาม ผมรู้ว่าผมเล่นตามกติกา ผมไม่ได้ตุกติก ผมไม่ได้เอาเปรียบคู่ต่อสู้ ผมไม่ได้เอาเปรียบเจ้าของภาษีเลยแม้แต่บาทเดียว ผมเล่นตามกติกา แต่ท่านก็พยายามเป่านกหวีดให้ผมออกจากนอกสนาม”
ด้าน นายอุดม หวังหุ้นกลาง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทรัพย์เจริญ เกษียณอายุราชการมาแล้ว 7 ปี บอกว่า เป็นวันที่คลายความทุกข์ใจมากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมานอนไม่หลับกังวลถึงผลของคดี แม้วันนี้การคัดค้านโทษเหมาแข่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะครูต้องโทษแบบร้ายแรงถูกไล่ออกจากราชการ เหมือนมติของ ป.ป.ช. แต่ก็ยืนยันว่า ที่ผ่านมาครูเป็นเพียงแพะ ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ขณะที่ไทยพีบีเอสได้ตรวจสอบคำสั่งไล่ออกนี้ จาก นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ยอมรับว่า การลงนามไล่ออกครูทั้ง 65 คนในครั้งนี้เป็นการเซ็นด้วยน้ำตา
เนื่องจากกฎหมายของ ป.ป.ช.ระบุไว้ว่า หากมีมติชี้มูลความผิดแล้ว ต้นสังกัดต้องดำเนินการทันที แต่ไม่ปิดทางอุทธรณ์ ครูที่ได้รับคำสั่งสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันเพื่อให้คณะกรรมการวินัย ก.ค.ศ พิจารณาโทษใหม่
“อนุกรรมการอุทธรณ์เขาวินิจฉัยอีกครั้ง เพราะถ้าเป็นคำสั่งร้ายแรง และมีโทษไล่ออก ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าเป็นโทษร้ายแรง สามารถลดโทษได้ ก็ลดลงมาเป็นปลดออกได้ หรือกรณี ไม่ใช่การทุจริต เป็นลดขั้นเงินเดือน อันนี้สุดแท้แล้วแต่การดำเนินการ”