วันนี้ (26 ม.ค.2565) ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องกรมเจ้าท่า คดีที่ชาวบ้านฟ้องร้องกรณีก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นหาดสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา จนกระทบต่อชายหาด โดยศาลพิเคราะห์ว่า ชายหาดที่ถูกกัดเซาะไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นของกรมเจ้าท่าเป็นหลัก แต่เกิดจากคลื่นลมและปัจจัยอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งโครงการนี้ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องทำรายงานการวิเคราะผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ใช้เวลาพิจารณาคดีนาน 14 ปี เป็นการใช้สิทธิชุมชนฟ้องคดีเกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่งครั้งแรกของไทย หลังกรมเจ้าท่าก่อสร้างเขื่อนกันทรายเเละคลื่นปากร่องน้ำสะกอม และเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง 4 ตัว เมื่อปี 2541 ต่อมาชายฝั่งกัดเซาะอย่างรุนเเรง กลายเป็นหน้าผาลึกกว่า 5 เมตร ตลอดเเนวชายหาดเกือบ 3 กิโลเมตร
ปี 2554 ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้กรมเจ้าท่ากลับไปศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นฯ ซึ่งกรมเจ้าท่าได้อุทธรณ์คดีต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดในวันนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 26 ม.ค.นี้ ศาลตัดสินคดีประวัติศาสตร์ เขื่อนกันคลื่น "หาดสะกอม"