วันนี้ (31 พ.ค.2565) PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่กำลังจะมีผลใช้บังคับใช้ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละคน การจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง เพื่อปกป้องไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว
ในช่วงที่ผ่านมาเกิดความเข้าใจผิดในตัวกฎหมาย PDPA ถึงการคุ้มครอง แล้วอะไรทำได้ ไม่ได้ แบบไหนถึงเรียกว่า เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้อธิบาย 4 เรื่อง ดังนี้
4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA
Q : ถ่ายรูป-คลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ?
A : กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
Q : นำคลิป-รูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์โซเชียลฯ ?
A : สามารถโพสต์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
Q : ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือน ?
A : การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
Q : เจ้าของข้อมูลต้องยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ ?
A : ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
- เป็นการทำตามสัญญา
- เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
- เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
- เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
- เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
- เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป
PDPA = พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น